เรื่องที่จะนำมาเล่าต่อไปนี้ ผู้เขียนพูดถึงหมาไทยครับ แต่ไม่ได้พูดถึงบางแก้ว ( เข้าใจว่าตอนนั้นยังไม่มีใครรู้จัก เนื่องจากเรื่องนี้เขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2514 ) สำหรับผู้ที่สนใจเชิญติดตามได้ครับ - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - คุณ ๆ ผู้อ่านครับ ผมเขียนเรื่องหมามาก็มากมายหลายเรื่องแล้ว ล้วนแต่เป็นหมาฝรั่งทั้งสิ้น ยังไม่ได้เอ่ยเรื่องหมาไทยเลย จะเอ่ยยังไงล่ะครับ ตำราไม่มีจะให้ค้นนี่ครับ แต่เพื่อให้เรื่อง หมา-เพื่อนแท้ของมนุษย์ นอกจากอ่านเล่น ๆ แล้ว ยังจะเป็นประโยชน์แก่คนรักหมาทั้งหลาย ผมจึงได้ไปติดต่อขอความกรุณาจากคุณหลวงปริพจน์พจนพิสุทธิ์ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับหมาไทยมากที่สุดในเมืองไทยให้ท่านกรุณาเขียนเรื่องหมาไทยและท่านก็ได้กรุณาเขียนมาแล้วดังต่อไปนี้ ... หมาไทย หมาไทยในที่นี้ข้าพเจ้าหมายถึงหมาไทยแท้ ๆ ไม่มีเลือดต่างประเทศปน จะเห็นได้ในต่างจังหวัด เฉพาะอย่างยิ่งตามบ้านนอกตามไร่ตามนา ซึ่งไม่มีหมาต่างประเทศเข้าไปปะปน ตามทางรถไฟที่ออกสู่ภาคต่าง ๆ จะเห็นเช่นเดียวกัน หมาพวกนี้คอยหาเศษอาหารที่ผู้โดยสารโยนทิ้ง ตามตลาดสด ต่างจังหวัดก็เช่นเดียวกัน มีตลอดทุกภาคของประเทศไทย ขอยกเว้นหมาชาวเขาซึ่งเรียกกันว่า หมาแม้ว ซึ่งผิดกับหมาไทย หมาไทยเหล่านี้ หูตั้งตรงทั้งนั้น หูตกนาน ๆ จะเห็นครั้งหนึ่ง จึงควรถือว่าหูตั้งเป็นมาตรฐานตามส่วนมาก หางหมาไทยมีหลายอย่างต่าง ๆ กัน ไม่เป็นแบบเดียวกัน เช่น งอม้วนเป็นขนมกงวงเดียวบ้าง หลายวงบ้าง ไพล่บนหลังก็มี, งอเหมือนตัวยูในภาษาอังกฤษเหนือหลังก็มี บางตัวหางชี้ไปบนฟ้า บางตัวทอดไปทางหลังเหมือนดาบตั้งสู้ หางทอดไปทางหลังนี้จัดว่า งาม เพราะทำให้แลเห็นลำตัวหมายาวและเป็นสง่าขึ้น หมาไทยหางตกเหมือนหมาเลี้ยงแกะเยอรมัน ( แอลเซเชี่ยน ) นั้น ไม่มี ถ้าหมาอยู่ในลักษณะหางตกเช่นนี้แปลว่าหมามีความกลัวหรือตกใจ หมาต่างประเทศบางชนิด วางมาตรฐานให้ตัดหางสั้นบ้าง ยาวบ้าง ตามแต่ลักษณะและประเภทของหมา เพื่อให้เป็นแบบเดียวกันและมิให้เกะกะ ในประเทศไทยไม่นิยมตัดหางหมา ชอบปล่อยให้เป็นตามธรรมชาติ เมื่อธรรมชาติของหางหมามีต่าง ๆ กันมาก ดังนั้น จึงต้องพยายามเลือกชนิดที่เห็นกันว่าสวยงาม ซึ่งพอจะจัดหากันได้ โดยเลือกคัดผสมพันธุ์ ความสูงของหมาไทยไม่มีมาตรฐานใดกำหนดไว้ ความสูงนี้ตามแบบของสากล วัดจากขาหน้าตรงเป็นเส้นบรรทัด เป็นมุมฉาก จากพื้นดินขึ้นมาจนจรดกระดูกสันหลัง ไม่ใช่ขนบนเส้นหลัง หมาไทยตัวผู้อย่างสูงควรอยู่ใน 55 ซ.ม. ตัวเมียอย่างเล็กควรจะต่ำกว่าตัวผู้ในราว 5 ซ.ม. ตัวผู้ตัวเมียขนาดนี้นับว่าขนาดใหญ่พอสมควรแล้ว ถ้าตัวผู้สูง 55 ซ.ม. น้ำหนักจะตกประมาณ 23 ก.ก. ตัวเมียสูง 50 ซ.ม. ประมาณ 19 ก.ก. หมาไทยตัวผู้ที่สูงกว่านี้ก็มีบ้างแต่หาได้ยาก แต่โดยมากหมาไทยทั้งผู้และเมียมีความสูงต่ำกว่านี้เสียเป็นอันมาก อย่างต่ำตัวผู้ควรสูงสัก 50 ซ.ม. และตัวเมีย 45 ซ.ม. ต่ำกว่านี้จะเป็นหมาเล็กไป ความสูงนี้ควรจะให้ได้ส่วนกับความยาวของหมา ความยาวจากขาหน้าถึงขาหลังควรจะไล่เลี่ยกับส่วนสูง หากความยาวมากเกินไปจะทำให้แลเห็นเป็นหมาเตี้ยทำนองหมาแดกฮุ้น ( หมาไส้กรอก ) ของเยอรมัน ลำตัวหมาที่อกควรจะอวบ ๆ ไม่แบนแบบหมาผอม ๆ หรือแบบหมาเกรเฮาว์ที่ใช้ไล่กระต่าย ที่ท้องไม่ควรให้กิ่ว แต่ต้องสูงกว่าอกเล็กน้อย ถ้าท้องกิ่วแลไม่สวย ส่วนหัวรวมทั้งกะโหลกและใบหน้านั้นเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่ง ปากหมาไทยควรจะทู่ ๆ กะโหลกหัวควรจะได้ส่วนกับปาก คือไม่โตจนเกินไป หน้าระหว่างคิ้วไม่ควรจะหักมากนัก ฟันบนฟันล่างควรจะขบกันพอดี เรียบ ขาวสะอาด สีนัยน์ตาควรจะเป็นสีดำ หรือน้ำตาลแก่ ตาสีเหลืองอ่อนไม่ดีเพราะแสดงถึงความอ่อนแอในร่างกายบางอย่าง สีหมาไทยควรจะเป็นสีล้วน ๆ แต่บางสีหาสีล้วน ๆ หายาก มักจะมีสีขาวแซมที่คอและอก ถ้าไม่มากนักก็จะนับว่าใช้ได้ ถ้ามีด่างที่หน้า เท้า และหาง ไม่น่าจะนับว่าสวย ที่ชาวบ้านชอบกันเพราะคำบรรยายเข้ากันดีคือ หน้าแด่น เท้าด่าง หางดอก มักจะมีแก่หมาสีดำ แต่ข้าพเจ้ายังไม่เคยเห็นที่มีด่างเข้าจังหวะเหมือนแต้มอย่างแมวไทยชื่อ วิเชียรมาศ สักตัวหนึ่ง หมาไทยมีสีทุกสี สีแดง สีดำ สีขาว สีเขียว สีนวล สีลายเสือดำหรือแดง สีเผือกสุก สีสวาด หมาไทยมีแต้มสวยที่เคยเห็น คือหมาสีดำสีเท้าเหลือง และมีจุดเหลืองที่หัวตาด้วย ชาวบ้านเรียกกันว่า สี่ตา หมาสีแดงและสีนวลที่มีปากและหูสีดำเป็นสีที่ตัดกับสีลำตัว แลดูสวยกว่าสีแดงหรือสีนวลล้วน แต่นักเขียนนักพูด บางคนกลับเอาหมาสวย ๆ เหล่านี้ไปเปรียบกับนัก กิน เมือง เลยเสียชื่อว่าเป็นหมาตะกละไป ถ้าหมารู้เข้าคงจะลุกขึ้นโต้ว่า ไม่ยุติธรรม เลี้ยงข้าพเจ้าอิ่ม ๆ ข้าพเจ้าก็ไม่ตะกละ สีลายเสือแบ่งออกได้เป็นสองอย่าง อย่างหนึ่งสีพื้นทั้งตัว กระเดียดไปทางน้ำตาลแก่ แล้วมีลายพาดกลอน ขวางตามลำตัวอีกสีหนึ่ง สำตัวสีแดงแล้ว มีลายพาดกลอนเป็นสีดำ ทั้งสองสีนี้ถ้าลายพาดกลอนได้จังหวะ และเป็นหมาใหญ่ จะงามมาก ตัวสีสวาดปลายเท้าสีเหลืองไม่ใคร่จะมี มักจะเกิดจากพ่อสีสวาดกับแม่สีสวาดผสมกัน แต่บางทีลำตัวไม่เป็นสีสวาดแท้ กลายเป็นสีจำปาไป เป็นสีจำปาจาง ๆ สีปลายเท้าจางกว่าลำตัวเล็กน้อย ข้าพเจ้าเคยเห็นสุนัขเลี้ยงแกะเยอรมัน สีสวาดมีปลายเท้าทั้งสี่เป็นสีเหลือง 2-3 ตัว ที่ในกรุงเทพฯ บรรดาสีหมาทั้งหลายที่กล่าวมานี้ สีสวาดเป็นที่นิยมกันมาแต่ไหนแต่ไร เนื่องจากเป็นสีหายาก นาน ๆ จะพบสักตัวหนึ่ง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เป็นสุนัขที่ไม่ใคร่ได้ลักษณะ เพราปล่อยให้หมาเลือกคู่กันเองโดยเสรี ตำราหมาเก่า ๆ สีสวาดเป็นมงคล ใครเลี้ยงไว้จะได้ลาภยศสรรเสริญ เงินทองไหลมาเทมา ทั้งนี้เป็นเพราะเป็นของหายากนั่นเอง หายากยิ่งกว่าแมวสีวาดหลายสิบเท่า สีสวาดเป็นสีที่มีแก่หมาบางประเภทในยุโรปและอเมริกา เป็นสีที่ชอบกันมาก ความตกอับของหมาไทย ความดาษดื่นของหมาไทยทำให้หมาไทยตกอับ เพราะหาได้ง่ายแต่ขายไม่ได้คล่อง มีแต่ให้กันเปล่า ยิ่งเป็นตัวเมียแล้ว ให้ผู้ใดผู้นั้นไม่อยากได้ เพราะเกรงจะไปมีลูกเต็มบานหลานเต็มเมือง ตัวเมียเลือกคู่ได้ตามใจอย่างไทยแท้ ไม่มีการคุมกำเนิด หรือชะลอการเกิด จะให้สัตวแพทย์ ทำ จะสิ้นอีกหรือราว 150 บาท สิ่งใดหาได้ง่ายสิ่งนั้นไม่มีค่า หมาไทยไม่มีมาตรฐานที่แน่นอน มาตรฐานที่กล่าวมาข้างต้นเป็นแบบฉบับกว้าง ๆ ที่คณะกรรมการประกวดหมาไทยครั้งแรกที่สวนดุสิตวางไว้ เป็นเวลาหลายปีมาแล้ว กรรมการไม่เข้มงวด เพราะหากเข้มงวดนัก เวทีประกวดจะมีแต่กรรมการ ไม่มีหมาเข้าประกวด เท่าที่จำได้ครั้งหนึ่ง ๆ มีอย่างมาก 6-7 ตัว บางทีถ้วยที่ให้ มีราคา โต กว่าหมาเสียอีก นอกจากคร้งแรกที่สวนดุสิต ซึ่งจอมพล ป.พิบูลสงครามผู้พยายามส่งเสริมของไทย ๆ ให้รางวัลเงินสดถึงสิบชั่ง ถ้าท่านเลี้ยงหมาไทยมาแต่เล็ก ๆ เอาใจใส่ ให้อาหารมันเอง เล่นกับมัน พูดกับมัน ถ้าจะสอนจะอะไรให้สอนซ้ำ ๆ กันเสมอ ๆ หมาจะค่อย ๆ รู้เอง แล้วมันจะทำตามที่ท่านสอน เพื่อให้ท่านพอใจ ท่านรักหมา หมาจะรักท่าน หมาจะสังเกต กิริยา ท่าทาง เสียง และสายตาของท่านว่าจะแสดงไปทางไหน แสดงไปในทางรัก มันก็จะตอบในทางรักตามวิธีของหมา ถ้ากิริยา ท่าทาง เสียง และสายตาท่านไม่พอใจ ดุดัน หรือโกรธ มันจะรู้ทันที เพียงไม่ถึงแก่ต้องทำโทษก็เยี่ยวราดเสียแล้ว ท่านจะทำโทษหมาไม่ลง เมื่อท่านรักหมา หมาจะรักท่าน และทำทุกอย่างเพื่อให้ท่านพอใจตามสมองหมา หมาจะเป็นเพื่อนที่ซื่อสัตย์ของท่านตลอดชีวิตของมัน แม้ท่านจะยากจนข้นแค้น ตกทุกข์ได้ยากสักปานใด หลวงปริพนธ์พจนพิสุทธิ์ โทร. 816031. - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - |