การฝึกควรเริ่มจากการพาลูกหมาช่วงสองสามเดือนแรกนั่งรถไปที่ใกล้ๆก่อน แล้วจึงค่อยๆเพิ่มระยะทางให้ไกลขึ้น อาจไม่จำเป็นต้องลงจากรถเลยจนกระทั่งกลับถึงบ้าน โดยเจ้าของจะต้องอยู่ในรถด้วยตลอดเวลา เพื่อให้ลูกหมาอุ่นใจและปลอดภัย หรือสร้างความรู้สึกสบายใจ ด้วยการหาของเล่นหรือเสริฟของขบเคี่ยวบริการให้เป็นพิเศษ แต่แม่กี๋ขอหมายเหตุสักนิดว่า เทคนิคนี้เหมาะสำหรับลูกหมาที่ไม่มีอาการเมารถเท่านั้น มิเช่นนั้นเจ้าของมีหวังได้ล้างโจ๊กของน้องหมาที่ละเลงไว้บนเบาะรถเป็นแน่ วิธีการข้างต้นมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ลูกหมาชินกับการเดินทาง จนกระทั่งไม่กลัวรถและหายเมารถได้ในที่สุด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมันก็ต้องขึ้นอยู่กับความสามารถเฉพาะตัวของหมา และความช่วยเหลือจากเจ้าของในการนำพาหมาของตัวเอง ให้ผ่านพ้นภารกิจการฝึกครั้งนี้ เมื่อหมาทำความรู้จักกับรถยนต์ดีแล้ว เจ้าของควรกำหนดพื้นที่ให้หมาเคลื่อนที่ได้อย่างจำกัดด้วยการใช้กรง โดยเฉพาะหมาพันธุ์พี่บิ๊คทั้งหลายที่พออายุมากขึ้นจะมีขนาดใหญ่ตามไปด้วย การแยกหมาให้อยู่อย่างเป็นสัดเป็นส่วน นอกจากจะลดปัญหาเรื่องความวุ่นวายในห้องโดยสารแล้วยังเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ให้คนกับหมาต้องอยู่ด้วยกันเป็นเวลานานในที่ๆแออัดคับแคบ รวมไปถึงการขจัดปัญหาเรื่องน้ำลายของหมาที่หยดกระเด็นไปทั่วเบาะรถ ซึ่งอาจเป็นพาหนะนำโรคมาสู่คนได้ หรือขนที่ฟุ้งกระจายภายในรถ สาเหตุของการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจ โรคหอบหืด และโรคภูมิแพ้ ดังนั้นเจ้าของจึงไม่ควรนำลูกหมาไปนั่งในห้องโดยสารด้วยกันจนโต หรือปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปนานจนกระทั่งหมาเรียนรู้ว่าการนั่งรถต้องนั่งอยู่กับเจ้าของเท่านั้น แต่แล้วจู่ๆวันหนึ่งจะมาเปลี่ยนแปลง โดยเนรเทศให้ถูกขังอยู่ในกรงด้านหลัง หมาอาจจะกลับมาตื่นกลัวและวิตกกังวล กระสับกระส่ายไม่ยอมอยู่นิ่ง จนทำให้หมาบางตัวกลับไปมีอาการเมารถอีกครั้ง ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นการทำร้ายจิตใจกัน เพราะหมาย่อมไม่เข้าใจว่า ทำไมเจ้านายถึงไม่เอาไปนั่งอยู่ด้วยกันเหมือนวันก่อนเก่า หรือว่า นายจะหมดรักตูเสียแล้วหนอ?? มาถึงตรงนี้เจ้าของคงต้องมานั่งแก้ปัญหา หมาน้อยใจ เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเรื่อง ถึงแม้นแม่กี๋จะไม่มีแหล่งข้อมูลอ้างอิงที่เชื่อถือได้ในเรื่องของหมาน้อยใจ แต่เท่าที่อยู่กับหัวโตมานานกว่าสี่ปี หลายครั้งหลายหนที่แม่กี๋โดนหัวโตตัดพ้อต่อว่าด้วยสายตาที่เศร้าปนซึ้ง ดังนั้นเจ้าของควรฝึกให้หมาอยู่ในกรงตั้งแต่เริ่มฝึกนั่งรถยนต์ทั้งนี้เพื่อให้หมาเคลื่อนที่ได้อย่างจำกัด แต่ต้องแน่ใจว่ากรงใหญ่พอที่หมาจะลุกขึ้นยืน หมุนตัวและนอนลงได้ อาจหาเบาะนุ่มๆให้นอนนั่งรองรับน้ำหนักตัว เช่นเดียวกับเบาะรถยนต์ที่ออกแบบมาเพื่อทำให้ผู้โดยสารรู้สึกสบายเวลารถเคลื่อนที่ไปในทิศทางต่างๆ หากเป็นการเดินทางระยะไกลๆ ควรมีการจอดพักให้หมาได้พบกับเจ้าของ หรือถ้ามีเวลาพอก็พาลงเดินหรือเล่นด้วยสักพัก ให้น้ำ ให้อาหาร ให้ของว่าง เพื่อทำให้หมาคลายความกังวลเมื่อได้เห็นหน้าเจ้าของ การปลูกฝังให้หมาเรียนรู้ว่ากรงคือที่อยู่ของตนเมื่อต้องเดินทางโดยรถยนต์ ในที่สุดหมาจะเกิดความเคยชินและ สามารถนอนสงบนิ่งได้ตลอดการเดินทาง แต่แม่กี๋ขอเสนอแนะว่าในการฝึกระยะแรกๆจุดหมายปลายทางที่จะพาไปน่าจะเป็นที่ๆหมาได้รับความสนุกสนานเช่น การพาไปเที่ยว สวนสาธารณะ ชายทะเล ทุ่งหญ้า หรือป่ากว้าง ฯลฯ เพราะเมื่อไปถึงหมาจะรู้สึกผ่อนคลาย อีกทั้งยังเชื่อมโยงไปสู่ความรู้สึกดีๆที่ได้นั่งรถไปเที่ยวได้วิ่งเล่นเมื่อเดินทางไปถึงจุดหมาย แต่ถ้าลงจากรถแล้วเจอแต่หน้าคุณหมอ กลิ่นยา หมาป่วยและคลินิก หมาตัวไหนๆคงไม่อยากจะนั่งรถ เพื่อไปเจอเข็มฉีดยา... ไอ้หย๋าหมาชี้ช้ำจริงๆนะเจ้านาย แต่การให้หมาระวังความประพฤติแต่ฝ่ายเดียวยังไม่เพียงพอ คนขับรถควรต้องมีวินัยในการขับขี่รถที่มีหมาเป็นผู้โดยสาร สารถีต้องนึกถึงสถานะของหมาที่นั่งร่วมทางไปด้วย พึงใส่ใจว่าหมามองไม่เห็นว่ารถกำลังมุ่งเดินหน้าไปในทางไหนและเดาไม่ได้ว่ารถจะหยุด เลี้ยวหรือเร่งความเร็ว ดังนั้นการขับช้าๆ ชะลอความเร็วเมื่อต้องเลี้ยวรถตามโค้งหรือมุมถนน และเร่งหรือผ่อนความเร็วอย่างนิ่มนวล ช่วยให้หมาไม่ต้องเคลื่อนไหวร่างกายไปมาตามการเปลี่ยนทิศทางของรถ หรืออีกวิธีหนึ่งคือให้คนขับเลือกเส้นทางตรงเช่น ทางด่วนหรือมอเตอร์เวย์ ก็จะเป็นผลดีต่อหมาที่มีอาการเมารถอาเจียนอยู่เป็นประจำไม่ต้องผจญกับเส้นทางที่คดเคี้ยวเลี้ยวทุกโค้งหรือการจราจรที่ติดขัดหยุดชงักทุกห้านาที เจอเส้นทางแบบนี้อย่าว่าแต่หมาเลย แม้นแต่คนยังเมาจนเพี้ยนไปเลย
|