ตอบ: แนวทางการปรับพฤติกรรมสุนัขของซีซ่า มิลาน | |
คำอธิบายประกอบ (คลิปนี้ รวบรวมมาจาก Dog Whisperer ทาง National Geographic Channel และ DVD ชุด Mastering Leadership : Cesar Millan) 1. ไม่สัมผัสตัว ไม่พูดด้วย ไม่สบตา - เป็นหลักเมื่อพบสุนัขครั้งแรก ให้แกล้งทำเป็นมองไม่เห็นสุนัข ไม่สนใจ เพื่อลดอาการตื่นเต้นของสุนัข 2. calm-assertive energy - พลังที่หนักแน่นมั่นคง และสุขุมเยือกเย็น เป็นพลังของจ่าฝูงที่สุนัขจะให้ความเคารพ สังเกตการเปรียบเทียบ ระหว่าง "ความสุขุม" กับ "ความก้าวร้าว" และ "ความอ่อนแอ" ผู้นำที่ก้าวร้าวหรืออ่อนแอนั้น จะไม่ได้รับความเกรงใจจากสุนัข 3. การพาสุนัขเดินในลักษณะจ่าฝูง - มนุษย์ออกจากประตูก่อน เดินด้วยท่าทางอย่างผู้นำ อย่าให้สุนัขเดินล้ำหน้า ถ้าสุนัขไม่ทำตามให้กระตุกสายจูงขึ้นด้านบนและคลายทันที ไม่ใช่ดึงค้างเอาไว้ รักษาพลังที่สุขุมไว้ อย่าอ่อนแอเกินไปและอย่าแข็งขืนเกินไป 4. การเข้าหาสุนัขเพื่อสร้างความไว้วางใจ - ใช้กับกรณีที่สุนัขมีปัญหากลัวมนุษย์ หวาดระแวง ให้หันข้างหรือหันหลังให้สุนัข อย่าพยายามเอื้อมมือไปเหนือศีรษะสุนัข เพื่อไม่ให้สุนัขรู้สึกว่ากำลังถูกคุกคาม 5. การเข้าหาสุนัขเพื่อท้าทายอำนาจ - ใช้กับกรณีที่สุนัขไม่เชื่อฟัง หวงอาณาเขต หวงข้าวของ การเข้าหาลักษณะนี้เพื่อแสดงอำนาจของมนุษย์ในฐานะจ่าฝูง เพื่อให้เจ้าของสามารถควบคุมสุนัขได้ 6. การตักเตือน - ซีซาร์ใช้ 3 วิธี คือ 1. กระตุกสายจูง 2. เตะที่ต้นขาหลังหรือที่สีข้างของสุนัขเบาๆ เพื่อดึงให้สุนัขหลุดความสนใจจากสิ่งที่มันกำลังหมายตาอยู่ 3. ทำมือเป็นกรงเล็บ "ฉก" ที่ลำคอสุนัข เลียนแบบการกัดเตือนของสุนัข - ซีซาร์ไม่แนะนำให้ใช้เสียงโวยวายต่อว่าสุนัข เพราะเขามองว่าจะยิ่งทำให้สุนัขตื่นเต้นขึ้นไปอีก http://www.youtube.com/watch?v=2WMcsAK4MXs |
ฝึกคนเป็นจ่าฝูง | |
ฝึกคนเป็นจ่าฝูง 1. ให้สุนัขเดินเข้าออกประตู หลังเราเสมอ คือ ฝึกให้สุนัขนั่งรอก่อน เราเดินเข้า แล้วค่อยเรียกให้สุนัขตามเข้ามา 2.เวลาเดินในสายจูง ต้องไม่ให้สุนัขดึงเรา เราเดินนำหน้าเสมอ (ต้องฝึก) 3.ฝึกเรียกให้มาหาเรา (Recall) เราจะไม่เดินหรือวิ่งตามสุนัข จ่าฝูงไม่เคยเดินตามลูกฝูง 4. คนกินก่อน สุนัขกินที่หลัง ระหว่างเรากินข้าว ต้องไม่ยอมให้สุนัขเห่า คราง ขออาหารจากเรา ไม่แบ่งอาหารคนให้สุนัขระหว่างคนกิน เมื่อถึงเวลาให้อาหารสุนัข เขาต้องสงบก่อน แล้วถึงให้อาหารเขา 5. ฝึกยึดอาหารหรือของเล่นคืน โดยให้สุนัขเป็นฝ่ายปล่อยและถอย ไม่ใช่การดึงแย่งจากปาก 6.ไม่เล่น Tug of war คือการยื้อแย่งของเล่นคล้ายชักเย่อ 7. ฝึกจับสุนัขนอนหงายท้อง ให้อยู่ในลักษณะยอมจำนน ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่สุนัขจ่าฝูงสั่งสอนสุนัขลูกฝูงเมื่อทำผิดกฎ และ/หรือ ยกสุนัขขึ้นโดยใช้มือขยุ้มที่หนังคอด้านหลัง (เป็นพฤติกรรมที่แม่สุนัขทำให้ลูกสุนัขสงบ) 8. เขาไม่ยอมสิ่งไหน เราต้องทำสิ่งนั้นจนเขายอม เช่นไม่ยอมให้จับตัว ลูบหัว 9. ฯลฯ ที่สำคัญคือ สุนัขกลุ่มนี้มักมีพลังงานเหลือมาก ต้องพาออกกำลังกาย (โดยเฉพาะก่อนฝึก)เพื่อเอาพลังงานออก สุนัขที่เหนื่อยจะสงบ และยอมจำนนง่ายขึ้น 10. จ่าฝูง (คนเลี้ยง)เป็นผู้กำหนดกิจกรรมทุกอย่าง เช่น เมื่อไหร่ตื่น (สุนัขห้ามเห่าเรียกหรือปลุกเราตอนเช้า) เมื่อไหร่กิน เมื่อไหร่เล่นหรือหยุดเล่น(สุนัขที่คาบของเล่นมาให้เราเล่นด้วย หรือเห่าสั่ง คือพฤติกรรมแสดงความเป็นจ่าฝูงแบบหนึ่งของสุนัข) 11. เราเป็นผู้กำหนดขอบเขตหรืออนุญาติ บริเวณที่เขาจะเข้าถึงได้ ไม่ใช้สุนัขอยากจะไปไหนก็ได้ตามใจ เช่น การขึ้นบนเตียง หรือโซฟา สุนัขจะขึ้นได้เมื่อเราสั่ง และต้องลงเมื่อเราสั่ง ถ้าไม่ได้สั่งห้ามขึ้นเอง 12.คนอยู่ในตำแหน่งสูงกว่าสุนัขเสมอ เช่น นั่งสูงกว่า นอนสูงกว่า 13. ในกรณีมีสุนัขหลายตัว คนเลี้ยงมีสิทธิที่จะให้ความรัก หรือให้อาหารตัวไหนก่อนก็ได้ สุนัขไม่มีสิทธิที่จะอิจฉากันเอง หรือสุนัขไม่มีสิทธิหวงคนเลี้ยงคนดูแล เช่น ตัวไหนมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ขณะที่เราให้ความรักกับสุนัขอีกตัว ตัวที่ก้าวร้าวต้องถูกตักเตือน เมื่อสุนัขที่ก้าวร้าวสงบและยอม เราถึงให้ความรักตอบ ขอบคุณข้อมูลดี ๆจาก : คุณ Yoja&Jiji http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=yojajiji&month=27-11-2008&group=6&gblog=11 |
ชีวิตประจำวันเพื่อการเป็นจ่าฝูงตลอด 24 ชั่วโมง | |
ชีวิตประจำวันเพื่อการเป็นจ่าฝูงตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อมนุษย์ผู้แสนใจดีรับสุนัขเข้าบ้านเพื่อเป็นสมาชิกใหม่ภายในครอบครัว ไม่ว่าจะรับสุนัขโตแล้ว หรือ ลูกสุนัข คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันมักจะมองสุนัขเหมือนเป็นมนุษย์ขนปุกปุย เพื่อนซี้สี่ขา ตุ๊กตายัดนุ่นที่มีชีวิต หรือ แม้แต่เหมาว่าเป็นลูกของตนเอง แต่เชื่อหรือไม่ว่าสุนัขมองโลกใบนี้ต่างจากเราอย่างสิ้นเชิง เมื่อสุนัขเข้ามาอยู่กับครอบครัว เข้ามาในบ้านของเราสิ่งแรกที่สุนัขมอง ไม่ใช่ว่า บ้านนี้ใหญ่โตแค่ไหน มีที่นอนแสนอุ่น มีเสื้อแสนสวย มีอาหารยี่ห้อดีๆ หรือ มีของเล่นให้เล่นเยอะหรือเปล่า แต่สุนัขไม่ว่าจะเป็นหมาโต หรือลูกหมา จะมองว่า มันอยู่ในตำแหน่งใดในฝูงใหม่ฝูงนี้ จ่าฝูงหรือลูกฝูง หรือถ้าฝูงนี้มีจ่าฝูง(มนุษย์)อยู่แล้ว มันก็จะมองว่า เป็นจ่าฝูงที่ใช้ได้หรือเปล่า ถ้าใช้ไม่ได้ สุนัขก็จะเสียบตำแหน่งจ่าฝูงเสียเอง ในโลกของสุนัขมีแค่ 2 ตำแหน่งคือ จ่าฝูง หรือ ลูกฝูง ลูกฝูงจะทำตามจ่าฝูงทุกอย่างเท่าที่จ่าฝูงจะสั่งให้ทำ ไม่รบกวนการกินของจ่าฝูง ไม่รบกวนการนอนของจ่าฝูง ไม่เห่าสั่ง ให้อยู่ไหนก็อยู่ตรงนั้นจนกว่าจ่าฝูงจะสั่งให้ไปที่อื่น กินเมื่อจ่าฝูงสั่ง เล่นเมื่อจ่าฝูงบอก เรียกเมื่อไหร่ก็มาหา บอกให้หยุดก็หยุด ไม่มีการหวงของ เพราะของทุกอย่างเป็นของจ่าฝูง เป็นต้น ถ้าคุณรู้สึกว่า สุนัขนั้นดื้อเหลือเกิน พูดไม่ฟัง แถมเห่าเถียง เห่าสั่งอีกต่างหาก หรือเดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย ลักปิดลักเปิด หรือ ทำเป็นหูทวนลม เรียกก็มาบ้าง ไม่มาบ้าง จะสั่งให้ทำอะไรก็ต้องมีขนมติดสินบน เห่าไม่หยุด กัด ขู่ หวง ก้าวร้าว ฯลฯ ตอนนี้พวกเราเหล่ามนุษย์ก็จะทราบคร่าวๆแล้วว่า ในฝูงนี้ คุณอยู่ในตำแหน่งใดกันแน่ จ่าฝูง หรือ ลูกฝูง ? วิธีการเป็นจ่าฝูง ต้องเป็นตลอด 24 ชั่วโมง ทุก 7 วัน และต้องสม่ำเสมอต่อการควบคุมกฎระเบียบ กฎทุกอย่างในบ้านจ่าฝูงเป็นผู้ตั้ง กฎต้องเป็นกฎ ไม่มีการผ่อนผันหรือประณีประณอม มีแต่ขาวและดำ ไม่มีเทา ถ้าคุณทำได้ 100% สุนัขก็จะยอมเป็นผู้ตามหรือ เป็นลูกฝูงที่น่ารัก เชื่อฟังได้ทั้ง 100% แต่ถ้าคุณเป็นจ่าฝูงได้ 80% แปลว่าอีก 20% ที่เหลือคุณยอมให้สุนัขเป็นจ่าฝูง หรือคุณเป็นจ่าฝูงได้แค่ 20% นั้นคืออีก 80%ที่เหลือ หมาคุมคน ถ้าคุณรู้สึกว่าสุนัขเดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย แปลว่าคุณไม่ได้ครองตำแหน่งจ่าฝูงได้ 100% จริงๆแล้ว คุณครองกี่ %กันเอ่ย หรือ ให้สุนัขครองความเป็นจ่าฝูงทั้ง 100% หรือเปล่า ? ทุกอย่างมีทางแก้ไข การทวงตำแหน่งจ่าฝูงนั้นไม่ยาก ถ้าคุณยินดีรับตำแหน่งจ่าฝูง สุนัขยินดีและพร้อมทั้งกาย ใจ จะมอบตำแหน่งนั้นคืนให้คุณอย่างแน่นอน ถ้าคุณทำได้ดี ไม่ขาดตกบกพร่อง แต่เมื่อไหร่คุณเผลอไม่เป็นจ่าฝูงแล้วหละก็ สุนัขก็พร้อมจะเสียบตำแหน่งจ่าฝูงแทนอย่างแน่นอน ไม่ว่ามันจะเต็มใจ หรือ ฝืนใจ รับตำแหน่งนี้ก็ตาม ชีวิตประจำวันเพื่อการเป็นจ่าฝูงตลอด 24 ชั่วโมง - เวลาเช้า เราเป็นผู้กำหนดเวลาที่จะปล่อยให้สุนัขออกไปขับถ่าย ไม่ว่าจะปล่อยออกจากกรง หรือ เปิดประตูห้อง ให้ออกไปขับถ่าย สุนัขต้องนั่งรออย่างสงบหน้าประตูกรง หรือประตูห้อง เมื่อสุนัขสงบถึงอนุญาตให้ออกไปขับถ่ายในบริเวณที่กำหนดได้ ถ้าเขาเห่าเรียกก็ต้องห้าม ตักเตือน และไม่อนุญาติให้ออก จนกว่าเขาจะสงบก่อน -การพาสุนัขไปเดินตอนเช้า (Mastering the walk) สุนัขต้องสงบตั้งแต่เราเริ่มหยิบสายจูง สุนัขนั่งรออย่างสงบหน้าประตู คนออกก่อน สุนัขออกทีหลัง ระหว่างการเดินสุนัขต้องไม่เดินดึงสายจูง ไม่เดินนำ ไม่วอกแวก ไม่ดมพื้น ก่อนเข้าบ้าน สุนัขก็ต้องนั่งรออย่างสงบ คนเข้าบ้านก่อนสุนัขเข้าทีหลัง เมื่อเข้าบ้านแล้วให้สุนัขนั่งรออย่างสงบบริเวณใดบริเวณหนึ่งก่อนเพื่อรอให้เราเก็บสายจูง เรากินน้ำให้เรียบร้อย แล้วเราค่อยเอาน้ำให้สุนัขกิน เขาจะกินน้ำได้เมื่อเราเป็นผู้อนุญาต แล้วค่อยปล่อยให้สุนัขพักผ่อนตามอิสระ หรือ ขึ้นอยู่กับภารกิจของแต่ละบ้าน ดูรายละเอียดได้ที่ Dog training; Mastering the walk - ประตูทุกประตู ถ้าเราจะผ่านประตูนั้นๆพร้อมกับสุนัข ไม่ว่าเวลาไหนๆ หรือกิจกรรมใดๆ เราต้องผ่านก่อน สุนัขนั่งรออย่างสงบ แล้วเราค่อยอนุญาตให้สุนัขผ่านตามมา -กิจกรรมระหว่างวันเราผู้เป็นจ่าฝูงต้องเป็นผู้กำหนด เช่น เมื่อไหร่เล่นได้ เมื่อไหร่ต้องหยุดเล่น สุนัขห้ามหวงของเล่น เรากำหนดว่าจะให้เล่นของเล่นอันไหน เมื่อไหร่ เพราะของเล่นเป็นของจ่าฝูง หรือห้ามเห่าสั่งเพื่อให้เราปาบอลให้ และเราควรกำหนดบริเวณที่จะให้สุนัขอยู่ เช่น ให้อยู่ในห้องนี้ ห้ามไปห้องนั้น หรือตอนนี้ต้องอยู่กันอย่างเงียบๆห้ามส่งเสียงดัง เป็นต้น - ในกรณีที่ต้องพาสุนัขขึ้นรถไปเที่ยวนอกบ้าน สุนัขต้องนั่งรออย่างสงบ ขึ้นรถได้ก็ต่อเมื่อเราอนุญาต อยู่ในรถก็ต้องอยู่อย่างสงบ ก่อนลงจากรถก็ต้องสงบก่อนลง ลงจากรถได้เมื่อเราอนุญาต -พฤติกรรมใดๆที่เป็นข้อห้ามของบ้าน เราผู้เป็นจ่าฝูงต้องเข้าตักเตือน ห้าม ทุกครั้งที่สุนัขทำพฤติกรรมไม่ดีนั้นๆ ต้องควบคุมกฎอย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่เตือนบ้าง ไม่เตือนบ้าง อีกคนหนึ่งห้าม แต่สมาชิกในบ้านอีกคนหนึ่งอนุญาต พฤติกรรมที่ควรห้ามเช่น ห้ามกัดเฟอร์นิเจอร์ กัดคน ขึ้นโซฟา(ตัวที่ห้ามขึ้น) เห่ามอร์เตอร์ไซด์ เห่าคนผ่านประตู ไล่จักรยาน ขุดสวน เห่าสั่ง เป็นต้น -ขณะที่คนทานอาหาร สุนัขห้ามเห่าขออาหาร เราจะต้องห้ามและตักเตือน และ เราห้ามให้อาหารแก่สุนัขกินเด็ดขาดขณะที่เรากินอยู่ มื้ออาหารของคนและมื้ออาหารของสุนัขควรแยกกันอย่างชัดเจน แต่ถ้าเวลาและสถานที่ ใกล้เคียงกัน คนทานก่อนให้เสร็จเรียบร้อย แล้วค่อยให้สุนัขทานทีหลัง -เวลาให้อาหารสุนัข สุนัขต้องสงบตั้งแต่เราเตรียมอาหาร สุนัขนั่งรออย่างเรียบร้อย ห้ามเห่าสั่ง เมื่อสุนัขนั้งเรียบร้อย ค่อยวางจานอาหารลง สุนัขยังคงนั่งรออยู่ จะเข้าไปกินในชามได้ก็ต่อเมื่อเราอนุญาตให้ทานได้ ดูรายละเอียดได้ที่ Dog training; Feeding Ritual 1 และ 2 ****** ถ้าจะดียิ่งขึ้น ควรให้อาหารหลังจากที่สุนัขได้ทำงานแล้ว เช่น หลังจาก Mastering the walk หรือ การฝึกกิจกรรมพิเศษ เช่น Dog tricks / Dog Agility (ควรให้สุนัขพักให้หายเหนื่อยก่อนกินอาหาร) เพื่อให้สุนัขได้ความรู้สึกที่ว่า "ได้ทำงานเพื่อแลกน้ำและอาหาร อาหารไม่ได้มาฟรีๆ " -ก่อนจะเข้าบ้าน หรือเข้ากรง สุนัขต้องสงบก่อนเข้า เพื่อให้พักผ่อนและหลับอย่างสงบ //////เพิ่มเติม//////// ในกรณีสุนัขที่มีพลังงานสูง ไฮเปอร์ การเดินออกกำลังตอนเช้าเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ควรให้มีกิจกรรมระหว่างวันเพิ่มเติมเพื่อเป็นการระบายพลังงานสะสม ควรมีการฝึกสมอง ฝึกจิตใจ เพิ่มความท้าทาย ผ่านกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้สุนัขสงบ ง่ายต่อการควบคุม และยอมรับกฎต่างๆของบ้าน กิจกรรมเพิ่มเติมต่างๆเช่น วิ่งลู่วิ่ง เล่นสเก็ตหรือปั่นจักรยานแล้วสุนัขวิ่งคู่กับเรา เดินออกกำลังเพิ่มเติมตอนเย็น เล่นAgility ฝึกDog Tricks พาไปว่ายน้ำ เป็นต้น ถ้าต้องทิ้งให้สุนัขอยู่ตามลำพัง สุนัขควรเหนื่อยและสงบ ก่อนที่เราจะทิ้งเขาให้อยู่ตามลำพัง เช่น พาสุนัขไปเดินนานขึ้น เดินเร็วๆก้าวเร็วๆ หรือ ให้สุนัขวิ่งไปกับจักรยานหรือสเก็ต และ เพิ่มการวิ่งลู่วิ่ง หรือหลังจากออกกำลังกายจนเหนื่อย ต่อจากนั้นให้สุนัขทานอาหาร เพราะสุนัขที่เหนื่อยและอิ่มจะหลับพักผ่อน ทำให้เขาอยู่ตามลำพังได้ และไม่ก่อกวน ***** คำอธิบายต่างๆเพื่อความเข้าใจมากยิ่งขึ้น ให้ดูได้ที่หัวข้อ Dog training และพร้อมกับภาพเคลื่อนไหวได้ในหัวข้อ VDO********* ขอบคุณข้อมูลดี ๆจาก : คุณ Yoja&Jiji http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=yojajiji&month=11-10-2009&group=6&gblog=48 |
ฝึกน้องหมาให้อยู่ในกรง (อย่างสงบ) | |
ฝึกน้องหมาให้อยู่ในกรง (อย่างสงบ) ฝึกน้องหมาให้อยู่กรง 1 พาสุนัขออกกำลังกายจนเหนื่อย เน้นว่า สุนัขต้องเหนื่อยลิ้นห้อย 2 เปิดประตูกรงไว้ เอาขนมล่อที่จมูกสุนัขแต่ยังไม่ให้กิน แล้วให้สุนัขดมตามขนมเพื่อเดินเข้าไปในกรงเอง เน้นว่า สุนัขต้องเดินเข้าไปในกรงเอง เราห้ามอุ้ม บังคับ หรือฝืนลากเขาเข้าไป 3 พอสุนัขเข้ากรงได้เรียบร้อย รอสักพัก รอ รอ ระหว่างนี้ถ้าสุนัขพยายามจะลอดออกนอกกรง เราต้องใช้แขนกั้นประตูกรงไว้ แล้วผลักหรือกั้นเขาเพื่อไม่ให้เขาออกมานอกกรงได้ ผลักดัน จนกว่าเขาจะเลิกพยายามออกนอกกรง แล้วหมอบด้วยตัวเอง แล้วให้ขนมสุนัขกิน อย่าเพิ่งปิดกรงเด็ดขาด ขั้นตอนนี้อาจใช้เวลานานหลายนาที หลายสิบนาทีจนกว่าสุนัขจะหมอบด้วยตัวเองไม่พยายามออกนอกกรง แต่เราก็ต้องทน ห้ามใจร้อนเด็ดขาด 4 เรียกสุนัขออกมาจากกรง แล้วทำซ้ำข้อ 2-3 จนสุนัขเดินเข้ากรงเองจนคล่อง แล้วหมอบได้เองในกรง ที่สำคัญต้องรอให้เขาหมอบเองก่อน แล้วถึงเรียกเขาออกมา (ค่อยๆลดอาหารลง เช่น ฝึกให้เข้า 4 รอบแล้วให้ขนมสักที ) 5 คราวนี้พอสุนัขเข้าไปในกรงได้เอง รอสักพักคือ รอให้สุนัขหมอบด้วยตัวเอง ไม่พยายามดันตัวออกมา ไม่ลุกลี้ลุกลน เขาต้องหมอบแบบผ่อนคลาย แล้วขั้นตอนนี้ถึงค่อยปิดประตูกรง เมื่อปิดประตูกรง ปิดค้างไว้สัก 4 วินาที แล้วเปิดกรง แล้วให้ขนมสุนัขเป็นรางวัล 6 ครั้งต่อไปปิดประตูกรงนานขึ้น ค่อยๆเพิ่มเวลาทีละน้อย ให้เขาฝึกความทนรอในกรงอย่างสงบขณะเห็นประตูปิด 7 แล้วก็พักการฝึก พาสุนัขออกจากกรง ไปนอนเล่นนอกกรง หลังจากนั้น 2 ชั่วโมง มาทบทวนฝึกใหม่ 8 ครั้งนี้ลองปิดกรงให้นานขึ้น ถ้าสุนัขรอในกรงอย่างสงบก็เปิดประตูกรงแล้วให้เขาออกนอกกรง ไม่ต้องมีขนมแล้วต่อจากนี้ 9 ครั้งนี้ฝึกให้เขาอยู่กรงในสภาวะท้าทายต่างๆ เพื่อฝึกให้เขาอยู่กรงได้อย่างสงบแม้จะเห็นเรา หรือ ไม่เห็นเราก็ตาม เขาก็ห้ามเห่าห้ามร้อง เพื่อฝึกไม่ให้เขาเห่าลับหลังเมื่อเราไม่อยู่ 9.1 ให้เขาอยู่กรง แต่เปิดประตูทิ้งไว้ เขาห้ามออกมานอกกรงแม้ประตูจะเปิดไว้ก็ตาม ถ้าเขาทำท่าจะออก เราก็ส่งเสียงเตือน เพื่อให้ไม่ออกและกลับไปหมอบในกรงตามเดิม ฝึกให้เขาอยู่นานได้ที่เราต้องการ จะเป็นชั่วโมงก็ได้ 9.2 ให้เขาอยู่กรง “เปิดประตูทิ้งไว้ แล้วเราเดินออกไปที่อื่น” ในที่ที่เราเห็นเขา แต่เขาไม่เห็นเรา เราแอบมองเขาอยู่ ถ้าเขาทำท่าจะออกลุกลี้ลุกลน เริ่มส่งเสียงครางเฮือกแรก เราก็ส่งเสียงเตือนสวนกลับทันที เพื่อให้เขากลับมาสงบ และไม่พยายามออก ฝึกให้เขาอยู่นานได้ที่เราต้องการ จะเป็นชั่วโมงก็ได้ ถ้าเขากระวนกระวายหรือลุกลี้ลุกลน ต้องรีบส่งเสียงเตือนทันที อย่าทน เพราะถ้าทน จะกลายเป็นคราง แล้วจากครางจะกลายเป็นเห่า เพราะฉะนั้น ถ้าเขาลุกลี้ลุกลนให้ส่งเสียงเตือนทันที 9.3 ให้เขาอยู่กรง “แต่ปิดกรง แล้วเราเดินออกไปที่อื่น” ในที่ที่เราเห็นเขา แต่เขาไม่เห็นเรา เราแอบมองเขาอยู่ ถ้าเขาทำท่าจะออกลุกลี้ลุกลน เริ่มส่งเสียงครางเฮือกแรก เราก็ส่งเสียงเตือนสวนกลับทันที เพื่อให้เขากลับมาสงบ และไม่พยายามออก ฝึกให้เขาอยู่นานได้ที่เราต้องการ จะเป็นชั่วโมงก็ได้ ถ้าเขากระวนกระวายหรือลุกลี้ลุกลน ต้องรีบส่งเสียงเตือนทันที อย่าทน เพราะถ้าทน จะกลายเป็นคราง แล้วจากครางจะกลายเป็นเห่า เพราะฉะนั้น ถ้าเขาลุกลี้ลุกลนให้ส่งเสียงเตือนทันที 10 ฝึกได้ตามนี้ทุกขั้นตอน สุนัขจะยอมรับกรง และยอมอยู่ในกรงอย่างสงบโดยที่ไม่ร้องทั้งคืน แล้วคืนแรกก็ให้เขานอนกรงได้เลย แต่อย่าลืมว่า เรายังคงต้องแอบฟังอยู่ ถ้าเขากระวนกระวายหรือส่งเสียง ต้องรีบส่งเสียงเตือนทันทีหรือเคาะกรง ห้ามทนเด็ดขาด เตือนเพื่อให้เขาเงียบและกลับมาสงบตามเดิม และก็ให้เขานอนในกรงต่อไปจนถึงเวลาที่เราต้องเปิดกรงเพื่อพาเขาออกไปขับถ่าย หมายเหตุ -การอยู่ในกรงคือสถานที่พักผ่อนที่มีความสุข ปลอดภัย สงบ ไม่ใช่สถานที่สำหรับกักขังหรือทำโทษ -อาจเอาของเล่นสุนัขใส่ไปในกรงสักชิ้น หรือ ลองให้เขากินอาหารในกรง เพื่อเชื่อมโยงการอยู่กรงกับสิ่งเชิงบวก -สำหรับการฝึกลูกสุนัขให้อยู่กรง เราต้องพาเขาออกจากกรงตามเวลาขับถ่าย ต้องเปิดกรงพาเขาไปขับถ่ายก่อนที่เขาจะปวด เขาจะได้ไม่ติดนิสัยร้องเรียกในกรง เห่าปลุกเราให้เปิดกรง หรือติดนิสัยขับถ่ายในกรง สูตรคือ อายุเดือน +1 ยกตัวอย่าง ลูกสุนัขอายุ 2 เดือน เขาจะสามารถกลั้นได้ประมาณ 3 ชั่วโมง เพราะฉะนั้น ต้องเปิดกรงพาเขาออกมาขับถ่ายทุก 3 ชั่วโมง แม้จะเป็นกลางดึกก็ตาม -ระหว่างอยู่กรง ถ้าเขามีเสียงหงุงหงิงหรือมีเสียงเห่า ต้องรีบส่งเสียงเตือนทันทีเช่น ชูว์ อ๊ะ หรือ เคาะกรง เพื่อให้รู้ว่าเขาไม่พอใจที่เขาเห่า ทำจนกว่าเขาจะสงบแล้วไม่ส่งเสียง ห้ามทน ห้ามรอจนเขาเงียบเอง เพราะจะทำให้เขาติดนิสัยเห่าเรียกร้องความสนใจได้ เมื่อไหร่มีเสียงหงิงๆ ต้องมีการตักเตือนทันที -------------------- ต้องอาศัยความอดทนและค่อยเป็นค่อยไปในการฝึก ห้ามโมโห ห้ามรีบ สิ่งที่ทำให้สุนัขเกลียดกรง อยู่ด้วยตัวเองไม่ได้ พอไม่เห็นคนก็ร้อง เพราะเขายังไม่ยอมรับกรงแบบ 100% ที่สุนัขเป็นอย่างนี้เพราะเราทำข้ามขั้นตอน เราใจร้อนไป ----------------------- วิดีโอ ยูจิ เรียนรู้ที่จะอยู่ในบ้านใหม่อย่างสงบ เทคนิค คือ "การรอคอย" ถือเป็นสิ่งสำคัญในการฝึกครั้งนี้ เราต้องรอจนกว่าสุนัขจะยอมอยู่ในกรง ไม่พยายามออกมา เมื่อเขายอมที่จะอยู่ในกรง เขาจะนั้งนิ่งๆ แต่เรายังต้องรอต่อไปจนกว่าเขาจะหมอบอยู่ในกรงอย่างสงบ รออีกสักนิด ถึงปิดประตูได้ ---------------- Tip สุนัขต้องหมอบด้วยตัวเอง หน้าผ่อนคลาย ปากเปิดลิ้นห้อย มองประตูกรงแบบเฉยๆ แม้เราจะขยับบานประตูไปมา สุนัขก็หมอบเฉยๆ ไม่ลุกขึ้นและไม่สนใจที่จะออกนอกกรงอีกต่อไป นั้นคือ สุนัขยอมรับกรง แม้จะปิดหรือเปิดประตูทิ้งไว้ แม้เขาจะเห็นหรือไม่เห็นเรา เขาก็จะไม่เห่า ไม่ร้อง แล้วเขาจะรักกรง เข้ากรงปุ๊ปจะหลับนอนทันที ถ้าสุนัขยังไม่หมอบด้วยตัวเองนิ่งๆ ไม่สงบจริง แล้วเราดันไปปิดประตูขณะที่สุนัขยังพยายามดันประตูออก นั้นคือ เราขังเขา เขาถูกขัง เขาจะเกลียดกรง และตีความว่า กรงคือคุก สุนัขจะไม่มีทางยอมอยู่ จะเห่าร้องแน่นอน ก็เพราะเราปิดประตูเร็วไปไม่ยอมรอให้เขาสงบก่อนปิด เหมือนหลายๆคนที่ทำผิดคือ พยายามปิดประตูดันหัวสุนัขเข้าไป ฝืนปิดประตูขณะที่สุนัขยังลุกลี้ลุกลนพยายามจะออก เลยฝึกไม่สำเร็จเสียที http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=yojajiji&month=07-2009&date=14&group=6&gblog=41 |
สุนัขไม่ยอมเดินเมื่อใส่สายจูง.......ทำไงดี? | |
สุนัขไม่ยอมเดินเมื่อใส่สายจูง.......ทำไงดี? การฝึกให้สุนัขยอมรับสายจูง ยากง่ายขึ้นอยู่กับสุนัขแต่ละตัวและความมีอำนาจเหนือของสุนัขตัวนั้นๆ โดยเฉพาะใส่สายจูงแบบโซ่กระตุก เป็นการปลดอำนาจสุนัข เพื่อทำให้เรามีอำนาจควบคุมเหนือเขาแทน ถ้าสุนัขไม่ยอมจำนนจริงๆ มักจะต่อต้านสายจูงโซ่กระตุกแน่นอน แต่จะยอมเร็วยอมช้าก็ขึ้นกับสุนัขแต่ละตัวและความใจแข็ง ความนิ่งของผู้จูง วิธีฝึกให้สุนัขเดินในสายจูงมีหลายวิธี วิธีแรกอ่อนโยนสุดคือ “ใช้สุนัขสอนสุนัข” โดยการนำสายจูงของสุนัขที่ไม่ยอมเดินในสายจูง ไปผูกติดกับปลอกคอของสุนัขที่เดินในสายจูงดีแล้ว ต่อจากนั้นเราพาตัวที่เก่งเดิน วิธีนี้จะทำให้ตัวใหม่ยอมเดินในสายจูงได้ไวขึ้นเพราะเขาจะเดินตามสุนัขตัวที่เก่งแล้ว โดยธรรมชาติสุนัขจะเลียนแบบพฤติกรรมของกันและกัน ถ้าอีกตัวยอมเดินสายจูงแล้วไม่มีอันตรายใดๆเกิดขึ้น ก็มีแนวโน้มที่สุนัขตัวอื่นๆยอมเดินตามเช่นกัน วิธีนี้ตัวที่เก่งแล้วจะต้องเดินในสายจูงได้ดีเกือบ100% เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับตัวใหม่ เพราะถ้าตัวเดินนำนั้นวอกแวก มีผลทำให้ตัวใหม่วอกแวกเช่นกัน กลายเป็นพากันวุ่นวายคูณสอง วิธีที่2 “ การใช้ขนมหรือของเล่นกระตุ้นให้สุนัขเดินตามในสายจูง” วิธีนี้ได้ผลกับสุนัขที่ไม่ค่อยต่อต้านมาก สุนัขหัวอ่อน เวลาสุนัขหยุดเดิน หรือเป็นไก่ย่าง นอน ไม่ยอมเดิน ใช้อาหารกลิ่นแรงเช่น ตับย่าง ไส้กรอก มายั่วที่จมูก และยั่วให้สุนัขลุกและเดินตาม แต่เรายังไม่ให้เขากินเลยทันที ให้เขาเดินตามกลิ่นมาเรื่อยๆ ถ้าเดินดีสัก100 เมตรและไม่ดึงสายจูงเราจึงให้ขนมเป็นรางวัล และ ฝึกให้เขาดมตามกลิ่นมาเรื่อยๆ เดินดีไกลเกินกว่า100 เมตรถึงให้ขนมเป็นรางวัล ต่อๆไปก็ไม่ต้องใช้อาหารล่ออีกต่อไป (วิธีนี้อาจใช้เวลาหลายวัน กว่าสุนัขจะเดินตามสายจูงโดยไม่มีขนมเป็นตัวล่อ) วิธีนี้มีข้อเสียคือ ถ้าเราให้ขนมผิดจังหวะ ให้เร็วไป ให้ขนมเขาขณะที่สุนัขยังเดินไม่ดีจริงๆ เขาจะเรียนรู้ว่า แค่ก้าวไม่กี่ก้าวก็ได้กินขนมแล้ว ต่อไปเขาจะควบคุมคุณโดยการนั่งเพื่อต่อลองให้คุณเอาขนมออกมา ถ้าไม่มีขนมก็ไม่ยอมเดิน แบบนี้จะเรียกว่า เป็นการติดสินบนสุนัข เขายอมเดินเพราะขนม ไม่ใช่ยอมเดินเพราะยอมให้คุณ(จ่าฝูง) การฝึกสุนัขเดินจะล้มเหลวในที่สุด จึงต้องใช้วิธีที่ 3 วิธีที่ 3 วิธีนี้ต้องใช้ความหนักแน่นและความใจเย็น แน่วแน่ มั่นใจ ใจแข็ง ของผู้ถือสายจูงอย่างมาก ถ้าคนจูงไม่ใจแข็งพอ ไม่สงบพอ ยิ่งจะทำให้น้องหมาต่อต้านสายจูงมากเป็นทวีคูณ แต่ถ้าคนจูงนิ่ง ไม่ท้อ ไม่อาย ไม่โกรธ ไม่โมโห ไม่รีบ ไม่ยอมแพ้ และควรเงียบๆไว้ไม่ต้องพูดมากดีที่สุด สุนัขจะสามารถยอมรับสายจูงภายในวันเดียว แต่กระบวนการฝึกอาจใช้เวลา 10 นาที ถึง 2 ชั่วโมงเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นควรเลือกวันที่ว่างจริงๆ ไม่รีบ และ เราอารมณ์ดีที่สุด สามารถฝึกในบริเวณบ้านก่อนก็ได้ เมื่อสุนัขยอมรับสายจูงแล้วถึงลงสนามจริงคือ พาเดินนอกบ้าน 3.1เราจำเป็นต้องพาสุนัขออกกำลังกายให้เหนื่อยลิ้นห้อย เพื่อระบายพลังงานออกไปให้เกือบหมด จะทำให้สุนัขต่อต้านเราน้อยลง เริ่มโดยใส่สายจูงแบบโซ่กระตุก เลื่อนโซ่ให้อยู่ที่คอส่วนบน หลังใบหู Tip : สายจูงต้องหย่อน ไม่ยาวเกินไปและไม่สั้นเกินไป ระหว่างเริ่มออกเดิน กระตุ้นให้สุนัขก้าวเดิน ให้ฝึกควบคุมผ่านสายจูงให้สุนัขก้าวขาอย่างต่อเนื่อง พยายามให้เขาก้าวขาอย่างไหลลื่นโดยการควบคุมผ่านการกระตุกสายจูง เหมือนเราควบคุมหางเสือ ถ้าเขาจะติดเบรก เราต้องดึงสายจูงไปด้านหน้าขนานกับพื้น เพื่อให้ขาเขาติดเบรกไม่ได้ ถ้าเขาจะหย่อนก้นนั่ง เราต้องควบคุมสายจูง ดึงไปด้านหน้าขนานกับพื้นแงะๆก้นให้ห่างพ้นพื้นเข้าไว้ เมื่อเขาติดเบรกไม่ได้ ก้นก็หย่อนติดพื้นไม่ได้ เมื่อก้นหย่อนติดพื้นไม่ได้ เขาก็นอนเป็นไก่ย่างไม่ได้ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการควบคุมผ่านสายจูง ซึ่งเหมือน skill อย่างหนึ่งที่เราต้องฝึกฝน ถ้าสุนัขนอนเป็นไก่ย่าง ให้ดึงสายจูงในทิศขึ้นฟ้าเพื่อให้เขาอยู่ในท่านั่ง เพราะท่านั่งจะเป็นท่าที่กระตุ้นให้เขาก้าวเดินได้ง่ายกว่าท่าหมอบไก่ย่าง เมื่อเขานั่งได้แล้ว ให้ดึงสายจูงไปทิศทางด้านหน้าขนานกับพื้น ดึงไปด้านหน้าแล้วผ่อน ดึงไปด้านหน้าแล้วผ่อน เพื่อให้คอสุนัขโน้มไปข้างหน้า เมื่อคอโน้มไปข้างหน้า ก้นก็จะยกลอยจากพื้นอย่างอัตโนมัติ เมื่อก้นยกขึ้น เขาก็จะก้าวไปด้านหน้าอย่างอัตโนมัติ ระหว่างนี้ต้องควบคุมผ่านทางสายจูงให้เขาก้าวขาอย่างไหล่ลื่นมากที่สุด เพื่อไม่ให้เขาหย่อนก้นลงนั่งได้ ถ้าเกิดเหตุการณ์นั่งตูดติดพื้น ไม่ยอมลุก ร้องโวยวาย แงะก้นไม่ขึ้น ให้ทำวิธีหักดิบดังข้อต่อไป (พยายามให้สุนัขอยู่ในท่านั่ง) …… 3.2 เราก้าวเดินเลย เมื่อสุนัขนั่งฝืนไม่ยอมยกก้นขึ้น เราหยุดก้าว และเรายืนอยู่ตรงนั้นห้ามถอยหลังเด็ดขาด สายจูงจะตึงเล็กน้อย เราคงความตึงสายจูงไว้อย่างนั้น (ตึงแต่พองาม ไม่ชักเย่อ ไม่กระชาก) เราไม่ต้องผ่อนความตึงของสายจูง ยังไงสุนัขก็ไม่ยอมขาดอากาศหายใจจนตัวตาย เขาต้องยอมเดินตามมาเพื่อให้สายจูงหย่อนในที่สุด เมื่อไหร่สายจูงหย่อนเราก้าวเดินต่อไปทันทีเพื่อให้เขาก้าวขาอย่างไหลลื่นที่สุด กว่าสุนัขจะยอมเดินตามมา เป็นการท้าทายระหว่างคุณกับสุนัข ใครยอมผ่อนก่อนคนนั้นแพ้ เพราะฉะนั้นห้ามผ่อนสายจูงก่อน แต่ระหว่างทำก็ต้องคอยประเมินสถานการณ์ด้วยว่าโซ่รัดแน่นไปไหม โซ่เลื่อนลงต่ำไปอยู่ที่ฐานคอด้านล่างไหม เพราะถ้าโซ่ลงต่ำไปอยู่คอด้านล่างยิ่งทำให้สุนัขหายใจไม่ออก กลืนน้ำลายไม่สะดวก แต่ถ้าโซ่อยู่หลังกกหู สุนัขจะหายใจได้อยู่ เพราะฉะนั้นโซ่ต้องอยู่ที่หลังกกหูตลอดเวลา การที่โซ่ตึงแต่พองาม สุนัขอาจกลืนน้ำลายไม่สะดวกทำให้เขาสำลักน้ำลาย ไอได้ หรือ แหวะออกมาเป็นน้ำลายฟองๆ ก็อย่าได้ตกใจ ถ้าสายจูงยังคงตึงแต่พองามและอยู่หลังกกหู ก็ถือว่าเป็นอันปลอดภัย แต่เราก็ต้องประเมินตามสถานการณ์ด้วย เราสามารถผ่อนสายจูงเพื่อให้เขาพักหายใจโล่งๆเป็นระยะๆได้แต่ต้องเลือกเวลาในการผ่อนสายจูงเมื่อสุนัขไม่ได้ดึงสายจูงต้านกับเรา ถ้าเขาผ่อนไม่ดึงเรา เราถึงผ่อนสายจูงได้ เขาต้องผ่อนก่อน เราผ่อนตามทีหลัง แต่เรายังคงยืนอยู่กับที่ ผ่อนแต่สายจูงไม่ต้องออกแรงดึง ระหว่างช่วงเวลาวัดใจนี้ น้องหมาบางตัวอาจดิ้นทุรนทุราย แหกปากโวยวายเหมือนหมาถูกเชือด บ้างก็อาจกัดสายจูง เห่าขู่ เขาจะแสดงบทบาทต่างๆนานา อย่าได้ตกใจไป คุณต้องไม่สนใจ ไม่ใจอ่อน ไม่ต้องอายเพื่อนบ้าน ถ้าเราถือสายจูงอย่างมีสติ ตามที่อธิบายไว้ด้านบน สุนัขก็จะปลอดภัย หายใจได้อยู่ ตอนนี้เขาอาจดิ้น ร้อง ต่อต้านต่างๆนานา ตัวที่ดื้อน้อยๆแต่พองามอาจใช้เวลา 5 นาที อาจเร็วกว่าหรือช้ากว่านั้น ขึ้นอยู่กับพลังของสุนัข ถ้าสุนัขที่ดื้อมาก ภาวะวางอำนาจเหนือมาก เขาอาจต่อต้านนานมากกว่า 5นาทีได้ ถ้าเขาผ่อนไม่ต้านสายจูง (เราจะรู้สึกผ่านทางสายจูงได้) จังหวะนี้ถือเป็นจังหวะทอง ให้เราดึงสายจูงมาด้านหน้าขนานกับพื้นเพื่อกระตุ้นให้เขายกก้นขึ้นและก้าวขาตามมา เราสามารถควบคุมผ่านการดึงสายจูงมาด้านหน้าเพื่อแงะก้นให้ลอยพ้นพื้น พอเขายอมเดินตาม เราก้าวเดินต่อไปทันทีเพื่อให้เขาก้าวขาอย่างไหลลื่น อย่าให้ติดขัด ถ้าสุนัขหยุดอีกเราก็เข้าสู่ภาวะวัดใจอีก ระหว่างนี้เขาอาจเดินตาม สลับกับหยุดต่อต้าน สลับกับยอมเดินตาม กลับไปกลับมาแบบนี้ เราก็ต้องฝึกต่อไปเรื่อยๆ ในการฝึกครบกระบวนท่าทั้งหมด บางตัวยอมเดินตามได้ทันทีภายใน 10 นาที บางตัวยอมภายในชั่วโมง บางตัวสองชั่วโมง ก็อย่าได้ท้อ ถ้าเราไม่ยอมซะอย่าง สุนัขก็ต้องยอม เป็นตรรกะที่ตรงตัวมาก จำไว้ว่าถ้าการฝึกครั้งแรกคุณแพ้ เพราะคุณยอมให้สุนัขหนีจากสถานการณ์ การแก้จะยากกว่าเดิมสองเท่าในครั้งต่อไป ถ้าเขาร้องแล้วคุณยอมปล่อยให้เขาเป็นอิสระหนีจากสถานการณ์ ครั้งต่อไปเขาก็จะร้องอีกแต่จะร้องหนักกว่าเดิม เพราะเขารู้ว่าการที่เขาร้อง ทำให้คุณใจอ่อน และคุณน่าจะยอมปล่อยเขาอีกในครั้งนี้ 3.3 ทำไปเรื่อยๆ จนกว่าสุนัขจะยอมเดินตามสายจูงแต่โดยดี ถือว่าคุณชนะ ครั้งต่อไปสุนัขอาจต่อต้านบ้าง เราต้องฝึกแบบเดิมอีก แต่จะไม่นานเหมือนครั้งแรก บางตัวยอมเดินตามเราเลยไม่ต้องกลับมาฝึกอีก บางตัวอาจมีขัดขืนได้บ้างในช่วงก่อนออกเดิน บางตัวขัดขืนเมื่อเดินไปได้สักพัก เราต้องแก้ตามสถานการณ์ห้ามถอดใจ เขาต่อต้านมากน้อย ยอมง่ายหรือยาก ขึ้นอยู่ความดื้อของแต่ละตัว และขึ้นอยู่กับความสามารถในการควบคุมสุนัขผ่านสายจูงของผู้จูง 3.4 คุณสามารถฝึกกระบวนการนี้ในบ้านก่อน เมื่อฝึกในบ้านสำเร็จ เขายอมเดินตามในสายจูงอย่างดี เราสามารถฝึกเดินนอกบ้านได้เลยในครั้งต่อไป ถ้ามีสุนัขหลายตัว เราเดินตัวต่อตัวก่อนสัก1 วัน วันต่อไปค่อยเอาอีกตัวมาเดินรวมฝูงด้วย สุนัข 3 ตัวที่บ้านใช้วิธีที่ 3 ได้ผลดี ปลอดภัยไร้กังวล ตอนนี้เดินในสายจูงได้ดีไม่มีปัญหา สุนัขแต่ละตัวก็อึดไม่เท่ากัน ดื้อไม่เท่ากัน สู้ๆนะคะ หญิงทำได้ คุณก็ทำได้ http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=yojajiji&month=09-07-2009&group=6&gblog=40 |
ฝึกสุนัขเดิน – Mastering the walk | |
Mastering the walk [for dog] การเดิน เป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับธรรมชาติของสุนัขที่อยู่กันเป็นฝูง พื้นที่บ้านใหญ่ให้วิ่งเล่นไม่สามารถทดแทนการเดิน(นอกรั้วบ้าน)ได้ พื้นที่ในบ้านเปรียบแค่เป็นคอก(ที่ใหญ่)เท่านั้นในความหมายของสุนัข สุนัขป่าเดินหลายกิโลเพื่อหาอาหารล่าเหยื่อ สุนัขเลี้ยงในอดีตต้องทำงานเพื่อแลกอาหารบางทีก็ต้องเดินท่องป่ากับเจ้าของเพื่อช่วยเจ้าของออกล่าสัตว์ เหมือนปลาก็ต้องว่ายน้ำ นกต้องบิน สุนัขก็ต้องเดิน การเดินมีประโยชน์มากมาย ทำให้สร้างความเชื่อใจและความเคารพที่สุนัขมีต่อเจ้าของ ทำให้สุนัขสงบและยอมจำนน สุนัขที่เข้ากันไม่ได้ต้องเดินด้วยกันเพื่อการยอมรับเป็นสมาชิกของกลุ่มเดียวกัน(โดยมีเจ้าของเป็นจ่าฝูง)ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้นั้น ต้อง "เดินให้ถูกต้อง" ด้วย การเดินที่ถูกต้องในแง่ของพฤติกรรมความเป็นจ่าฝูง (คน)และลูกฝูง(สุนัข) 1. คนเดินนำหน้า สุนัขเดินอยู่ข้างๆหรือเยื้องไปข้างหลัง ไม่อนุญาตให้สุนัขเดินนำหน้า ไม่ให้ดึงสายจูง ในโลกของสุนัขใครอยู่หน้า ผู้นั้นคือจ่าฝูง 2. สุนัขต้องเดินตามเรา เราเป็นคนกำหนดเส้นทางเดิน เลี้ยวซ้ายขวา รวมถึงความเร็วด้วย 3. สุนัขไม่หยุดดมพื้น ไม่ดมข้างทาง ไม่สนใจสุนัขหรือคนที่เดินสวนมา(มองแบบผ่านๆไม่จ้อง หรือ ดมทำจมูกดุ๊กดิ๊กได้แต่ไม่ให้พุ่งไปหาออกนอนเส้นทาง) ไม่หยุดฉี่เพื่อบ่งบอกอาณาเขต หน้าที่เดียวของสุนัขคือ เดินตามจ่าฝูงเท่านั้น 4. จ่าฝูงเป็นผู้ตัดสินใจว่า เมื่อไหร่หยุดเดิน เมื่อไหร่พักให้ฉี่หรืออึ เมื่อไหร่พักเบรก 5. ที่สำคัญก่อนเข้าและออกประตูบ้าน สุนัขต้องอยู่ในภาวะสงบ และเราต้องออกประตูก่อน แล้วสุนัขตามออกทีหลัง ก่อนเข้าบ้าน เราต้องเข้าประตูก่อนเสมอ เพราะจ่าฝูงเท่านั้นที่เข้าที่พักก่อน หรือออกจากที่พักก่อนเสมอ(เพราะจ่าฝูงเป็นผู้นำและเป็นผู้กำหนดกิจกรรมต่างๆ ส่วนลูกฝูงมีหน้าที่ตาม) เวลาดูว่าสุนัขสงบหรือไม่ ให้ดูที่พลังงาน ดูภาษากาย ดูความผ่อนคลาย คือ สายตาต้องไม่เพ่งไม่จ้อง หรือ สนใจสิ่งที่อยู่นอกบ้าน ตาไม่ลอกแลก ปากอ้าผ่อนคลาย หูลู่ไปข้างหลัง ตัวไม่แข็งเกร็ง ไม่โน้มตัวไปข้างหน้าเตรียมพุ่งทะยาน เขาต้องนั่งผ่อนคลายทิ้งน้ำหนักลงที่ขาคู่หลังไม่ใช่ขาคู่หน้า ถ้าสุนัขยืน เขาต้องลงน้ำหนักขาทั้งสี่เท่ากันไม่โน้มตัวไปสองข้าหน้า ไม่ว่าเราจะสั่งให้สุนัขอยู่ท่าไหนก็ตาม พลังงานและการผ่อนคลายของท่านั้นๆสำคัญที่สุด ผู้เลี้ยงบางรายสั่งให้สุนัขนั่ง สุนัขนั่งปุ๊บก็ออกเดินเลยเพราะถือว่าเขาทำตามสั่งแล้ว โดยที่ไม่สังเกตภาษากายว่า ท่านั่งนั้น นั่งแบบผ่อนคลาย หรือ นั่งแบบเตรียมพุ่งทะยาน ถ้าสุนัขนั่งแบบเตรียมพุ่งทะยาน รับรองว่า เมื่อเราก้าวแรก สุนัขจะพุ่งนำหน้าเราแน่นอน แล้วเราก็ต้องออกแรงยื้อกันตั้งแต่ก้าวแรกเลยทีเดียว นั้นคือการนั่งรอที่ไม่สงบของจริง สิ่งที่ต้องทำคือ รอสักพัก สั่งให้เขานั่งแล้ว ให้เขารอสักพัก เพื่อที่เราสังเกตภาษากายว่าเขาผ่อนคลายจริงหรือเปล่า เราต้องรอ การรอคือสิ่งที่ดีที่สุด เมื่อสุนัขสงบและกล้ามเนื้อผ่อนคลายแล้ว เมื่อนั้นถึงก้าวเดิน แล้วสุนัขจะไม่พุ่งทะยาน ไม่ดึงสายจูง 6. เมื่อเสร็จสิ้นการเดิน พาสุนัขเข้าบ้าน สุนัขต้องนั่งรออยู่เป็นที่เป็นทางสักพัก แล้วเราเดินไปเก็บสายจูง เปลี่ยนรองเท้า กินน้ำเย็นๆ ก็ตามแต่ แต่สุนัขต้องรอนิ่งๆอยู่ที่เดิมเพื่อรอรับคำสั่งต่อไป เมื่อเขานิ่งสงบ เราให้เขากินน้ำ เพราะนี้คือรางวัลในการทำตัวดี เดินดี เราให้น้ำเป็นสิ่งตอบแทน จำไว้ว่า อาหาร น้ำ ความรัก ไม่ใช่สิ่งที่ได้มาฟรีๆ สุนัขต้องพยายามทำเพื่อให้ได้มา หรือ หลังจากเดินเสร็จเรียบร้อย ก็ตามด้วยมื้ออาหารก็ถือเป็นการดี เพราะสุนัขได้ทำงานเพื่อแลกกับอาหาร ผู้เลี้ยงบางท่าน ทำทุกกระบวนการดีหมด แต่ล้มเหลวเมื่อกลับเข้าบ้าน เพราะเมื่อเข้าบ้าน ก็ปล่อยให้สุนัขวิ่งพล่านอิสระทั่วบ้านทันที สิ่งที่ตามมาคือ สุนัขไม่สงบ สุนัขยังคึกยังดื้อเหมือนเดิม ที่เป็นแบบนี้เพราะว่า เมื่อเขาก้าวข้ามประตูเข้ามาอยู่ในพื่นที่บ้าน สุนัขก็ครองบ้าน ครองสิ่งแวดล้อมตามเดิม เพราะเราปล่อยให้เขาอิสระทำอะไรตามใจ นั่นคือ คุณเสียความเป็นจ่าฝูงทันทีเมื่อก้าวเข้าบ้าน เพราะฉะนั้น เมื่อเข้าบ้าน กรุณาให้สุนัขรอสักพักเพื่อรอรับคำสั่งอื่นๆ หลังจากเดินเสร็จ ควรให้สุนัขนอนพักอย่างสงบ ไม่อนุญาตให้มีกิจกรรมตื่นเต้นหรือวิ่งวุ่นวาย ...ขั้นตอน... การเดินใช้เวลาอย่างน้อย 30 นาที อาจให้สุนัขแบกเป้ (น้ำหนักที่ใส่ในเป้ ประมาณ 10-20% ของน้ำหนักตัวสุนัข) เพื่อปรับให้เขาอยู่ในภาวะทำงาน เหมือนเขามีภาระที่ต้องรับผิดชอบและทำงานให้เรา ก่อนออกจากบ้าน สุนัขต้องอยู่ในภาวะสงบ นั่งรอหน้าประตูภาษากายต้องบ่งบอกว่าสงบ ก่อนออกจากบ้าน สุนัขต้องอยู่ในภาวะสงบ นั่งรอหน้าประตู เราก้าวออกจากประตูก่อนเสมอ ขณะที่สุนัขยังนั่งรออยู่อย่างสงบ เรียกให้สุนัขออกตามมา แล้วให้สุนัขรอหน้าประตูก่อน โดยยังอยู่ข้างๆเจ้าของอย่างสงบ เจ้าของเป็นผู้เริ่มก้าวเดินก่อน จ่าฝูงต้องเป็นผู้กำหนดทิศทางที่จะเดินเสมอ สุนัขเดินตามเจ้าของในสายจูงอย่างเรียบร้อยไม่มีการเดินนำหน้า หรือดึงสายจูง สุนัขไม่มีการดมพื้น หรือวอกแวก ถ้าสุนัขยอมรับเราเป็นจ่าฝูงแล้ว แม้ปล่อยสายจูงสุนัขก็ยังคงเดินตามเราอยู่ โดยที่ไม่วอกแวก ไม่ออกนอกเส้นทาง ยังคงเดินอยู่ข้างเราตลอดทาง ในความเร็วที่เท่ากัน เมื่อเดินเสร็จ ก่อนจะเข้าบ้าน ให้สุนัขนั่งรอด้วยความสงบหน้าประตูบ้าน เราเดินเข้าบ้านก่อน ขณะที่สุนัขยังนั่งคอยอยู่ที่เดิม เรียกให้สุนัขเดินตามเข้าบ้าน และให้นั่งเรียบร้อย และรอสักพัก ก่อนที่จะให้สุนัขกินน้ำ ........น้องหมาบางตัวยอมเดินในสายจูงแต่ดึงเราไปทิศตามใจตัวเอง วิธีแก้ในสไตล์ของ Cesar คือ 1. น้องหมาอยู่ในสายจูงที่เป็นแบบโซ่กระตุก(หรือIllusion Collar) ยืนชิดด้านซ้ายของเรา เราถือสายจูงด้านซ้ายมือเดียว สายจูงไม่ตึงไม่หย่อน 2. เราเริ่มเดินก่อนในทิศที่เราต้องการ น้องหมาเดินตาม ถ้าสายจูงตึงซึ่งเป็นเพราะน้องหมาดึงไปคนละทาง ให้กระตุกสายจูงเร็ว(แล้วคลาย) 1 ที เพื่อกระตุ้นน้องหมาให้เดินให้ถูกทิศทาง คือเดินตามเรา .......ในกรณีที่แย่ที่สุด กระตุกแล้วไม่ได้ผลเมื่อไหร่สายจูงตึงน้องหมาจะเท้าติดเบรคทันทีหรือนอนแบะแฉะกางสี่ขาท้องติดพื้น เหมือนไก่ย่าง หนังสือหลายเล่มอาจแนะนำการใช้ขนมล่อให้สุนัขเดินตามในสายจูง (Heel Walk) จากประสบการณ์ที่เคยฝึกเอง อาหารใช้ไม่ได้ผลคือเขาเดินมา 2ก้าวเพื่อมากินขนมแล้วหยุดเดินอีก คราวต่อไปก็เมินอาหารไปเลย ส่วนตัวเลยใช้วิธีสุดขั้วแบบหักดิบ แบบไม่มีอาหารล่อ คือถ้าวิธีนี้เราชนะ เขาจะยอมเดินในสายจูงง่ายขึ้นตลอดไป (ใช้ในกรณีที่สุนัขไม่ยอมเดินเลย แทบจะลากไปกับพื้นได้เลย ) 1.1 เราต้องมีเวลา ห้ามรีบ หาช่วงที่เราอารมณ์ดีที่สุด ห้ามอายเพื่อนบ้าน ห้ามโมโห หงุดหงิด ในขณะทำเด็ดขาด แล้วใส่สายจูงแบบโซ่กระตุก 1.2 เราเดินแล้วสุนัขหยุด ขืนตัว เราก็หยุดทันที โดยเราออกแรงดึงต้านกับแรงเขาเล็กน้อย เน้นเล็กน้อยเท่านั้น เพราะโซ่กระตุกจะรัดคอเขาเล็กน้อย แต่จะไม่ขาดอากาศหายใจ (เพราะสัญชาตญาณแล้วหมาไม่ยอมตายง่ายๆ) เราต้องระวังแรงของเราไม่ให้แรงไป อย่าถอยกลับไปหาน้องหมา (รักษาสายจูงให้ตึงจนกว่าเขาจะยอมเดินตามเราแล้วสายจูงก็หย่อนเอง) 1.3 ยื้ออย่างนี้ซักพัก สุนัขบางตัวขืนตัว 5-10 นาที เราก็ห้ามยอม บางตัวขืนตัวแล้ว ยังร้อง แหกปากเหมือนจะตาย หรือเหมือนถูกทำร้าย หรือดิ้นหมุนกลิ้งกับพื้น เขาจะใช้เทคนิคทุกอย่างให้เราใจอ่อน เราก็ห้ามยอม ห้ามหงุดหงิด ไม่ต้องมองเขาไม่ต้องสบตา 1.4 เมื่อไหร่เขาหยุดดึง เราก็หยุดดึง แล้วเราก้าวเดินต่อทันที สุนัขก็จะยอมเดินต่อ แต่ถ้าเขาหยุดอีก ก็ทำแบบเดิมอีก จนกว่าเขาจะยอมเดินตลอดทางโดยไม่หยุดขืนตัว นั้นคือเราชนะ การเดินในสายจูง บางทีเดินบริเวณรอบบ้านก็จะเดินดี แต่เวลาเปลี่ยนสถานที่่ใหม่ๆ มีสิ่งกระตุ้นมาก ก็อาจทำให้เขาเดินได้ไม่ดีเท่าสถานที่ที่ไม่มีสิ่งกระตุ้น ก็ต้องคอยฝึกกันไป http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=yojajiji&month=14-11-2008&group=6&gblog=1 http://www.facebook.com/sahaibangkaew |
ปัญหาเรื่องหมาใหม่หมาเก่า | |
Cesar Millan ได้แนะนำวิธีสร้างสันติในบ้าน เมื่อแนะนำน้องหมาใหม่ให้ทำความรู้จักกับน้องหมาที่อยู่มาก่อน อย่างสันติ ลดปัญหาความขัดแย้ง รักกันไม่ทะเลาะกัน เริ่มต้นดี ก็มีชัยไปกว่าครึ่ง (แต่ถ้าบ้านไหนไม่มีปัญหาเรื่องหมาใหม่หมาเก่า ขอแสดงความยินดีด้วย แต่ถ้าใครมีปัญหา หรือ ป้องกันก่อนปัญหาจะเกิดขึ้น รู้ไว้ก็ไม่เสียหาย) กฎเหล็ก 1 ก่อนจะนำหมาใหม่มาเป็นสมาชิกในบ้าน สุนัขที่มีอยู่ก่อนจะต้องยอมรับสมาชิกในบ้านทุกคน( มนุษย์ ) ว่าเป็นจ่าฝูง และสุนัขทุกตัวเป็นลูกฝูง ถ้าสามารถเลือกได้ เลือกสุนัขใหม่ที่มีพลังงานต่ำกว่า หรือ เท่ากัน กับสุนัขเก่าที่อยู่มาก่อน 2 กฎทุกกฎ สุนัขทุกตัวต้องเข้าใจตรงกัน ไม่มีข้อยกเว้น เช่นหมาเก่าทำแบบนี้ หมาใหม่ก็ต้องทำเช่นกัน สุนัขเก่าที่รู้กฎในบ้านเป็นอย่างดี จะช่วยสอนกฎแก่สุนัขตัวใหม่ สุนัขตัวใหม่จะเลียนแบบสุนัขตัวเก่า ทำให้เราเบาแรงไปเยอะ เช่น ถ้าสุนัขเก่าไม่เห่า สุนัขใหม่ก็จะไม่เห่าตาม สุนัขเก่าไม่กัดรองเท้า สุนัขใหม่ก็จะไม่กัดรองเท้าด้วย เป็นต้น 3 คาถาประจำใจในการเจอหมาใหม่ No touch ! No talk ! No eye contact ! โปรดจำไว้ว่า ใครเดินไปหาอีกฝ่ายก่อน ฝ่ายนั้นเป็นลูกฝูง เราต้องยืนเฉยๆ ทำเป็นไม่สนใจสุนัขไม่ว่าจะน่ารักน่าอุ้มขนาดไหนก็ตาม ต้องใจแข็ง (หยิ่งเข้าไว้ 555 ) แล้วรอให้สุนัขเป็นฝ่ายมาดมเราก่อน เขาจะเคารพเรา และ มีแนวโน้มจะเห็นเราเป็นจ่าฝูง แต่ถ้าเราเข้าไปหาสุนัขก่อน ด้วยท่าทีตื่นเต้นกระดี้กระด้า เสียงสูงปรี๊ด และตื่นเต้น ในสายตาของสุนัข คุณคือผู้ตามทันที ไม่มีข้อยกเว้น นี่คือสิ่งที่สุนัขมองโลก มองโลกในแบบสุนัข อย่าคิดว่าสุนัขมองโลกเหมือนกับเรา สุนัขก็คือสุนัข ไม่ใช่คน ไม่ใช่ตุ๊กตายัดนุ่น เคล็ดไม่ลับ - พาสุนัขใหม่เดินก่อนเข้าบ้าน เหมือนเป็นการอพยพย้ายถิ่น จากถิ่นเก่ามาถิ่นใหม่ ที่สำคัญ เราเดินนำ สุนัขเดินตาม ให้เขาเห็นเราเป็นจ่าฝูงเสียแต่เนิ่นๆดีกว่า (ถ้าเป็นลูกสุนัขก็เดินสั้นๆ ) - เมื่อถึงประตูบ้าน ให้สุนัขรออย่างสงบ เราก้าวเข้าประตู รอสักพัก (สุนัขยังคงรออยู่อย่างสงบ) และอนุญาตให้สุนัขก้าวตามเข้าประตูมา ในสายตาของสุนัข ใครเข้าไปยังสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ(บ้าน)ก่อน คนนั้นครอง ถ้าคุณยอมให้สุนัขตัวใหม่เข้าประตูบ้านก่อน สุนัขจะมองคุณเป็นผู้ตามทันที และบ้านก็จะเป็นของสุนัข คุณคือผู้อาศัย -ระบายพลังงานสุนัขตัวเก่าก่อนที่จะพบสุนัขตัวใหม่เพื่อลดความตื่นเต้น -อาจให้ลูกหมาหรือหมาใหม่ได้เดินสำรวจบริเวณบ้านโดยเราจับสายจูงไว้ เหมือนพาแขกชมบ้าน ตรงไหนไม่อนุญาตให้เข้า ไม่อนุญาตให้ปีน ไม่อนุญาตให้กัด ก็กระตุกสายจูงเตือน แล้วพาเดินไปทางอื่น ถ้าปล่อยให้หมาใหม่เดินทั่วบ้านด้วยตัวมันเอง มันจะครองบ้าน และก็จะไม่เคารพบ้าน บ้านเป็นของเขาแล้ว คุณแค่ผู้อาศัย และปัญหาที่จะตามมาก็คือ สุนัขถ่ายเรี่ยราด พูดไม่ฟัง กัดเฟอร์นิเจอร์ เตือนแล้วก็ยังกัดอีก วุ่นวาย เราคุมไม่ได้ จะคุมได้อย่างไรก็คุณก็แค่ผู้อาศัยเท่านั้น - เมื่อแนะนำบ้าน (โดยเราเป็นเจ้าบ้าน) เรียบร้อยแล้ว ให้สุนัขกินน้ำ แล้วเตรียมตัวออกเดิน -พาสุนัขตัวเก่า และ ตัวใหม่เดินด้วยกัน แบบ Mastering the walk เราเดินนำ สุนัขเดินตาม ไม่ดึง ไม่วอกแวก เดินถือสายจูงคนละมือ ตัวเก่ามือหนึ่ง ตัวใหม่อีกมือหนึ่ง เดินสักพัก จนสุนัขทุกตัวอยู่ในภาวะอารมณ์เดียวกัน คือ เดินตามเราอย่างเดียว สงบ ผ่อนคลาย ไม่ตื่นเต้น การเดิน ถือเป็นปัจจัยสำคัญมาก ทำให้สุนัขเก่ายอมรับสุนัขใหม่ว่าเป็นสมาชิกของฝูง โดยมีจ่าฝูงคือมนุษย์ สุนัขจะยอมรับกันง่ายขึ้น ลดปัญหาความขัดแย้ง (วิธีนี้ยังนำไปใช้กับสุนัขที่ไม่ถูกกันได้ ถ้าตัวไหนไม่ถูกกันยิ่งต้องเดินด้วยกัน แต่ถือสายจูงกันคนละมือ เมื่อยอมรับกันแล้ว ค่อยเริ่มถือสายจูงมือเดียวกัน เขาจะยอมรับกันและกันว่าเป็นสมาชิกของฝูงกันง่ายขึ้น ไม่ใช่ศัตรู อย่าลืมนะคะว่า ต้องเดินแบบ Mastering the walk เท่านั้น) - เมื่อเดินเสร็จ ให้ทุกตัวรอหน้าประตูบ้าน เราเข้าก่อน สุนัขเข้าทีหลัง - ขบวนการทำความรู้จักระหว่างหมาใหม่และหมาเก่า อาจให้หมาใหม่รู้จักหมาเก่าทีละตัว หรือ พร้อมกันทีเดียวก็ได้ แต่เราต้องมั่นใจว่าเราคุมสถานการณ์ และคุมหมาเก่าได้ ถ้าไม่มั่นใจก็แนะนำทีละตัว หลักสำคัญ ให้หมาใหม่ยืนนิ่งๆ แล้วหันบั้นท้ายหมาใหม่ให้หมาเก่าดม ระหว่างที่หมาเก่าทำการดม ให้หมาใหม่ยืนนิ่งๆ (การดมส่วนท้ายกัน ถือเป็นมารยาทที่ดีในการทักทายระหว่างสุนัขที่ไม่เคยเจอกันมาก่อน หรือใช้สำหรับสุนัขที่เข้าสังคมยังไม่เก่ง จะลดการท้าทาย ลดความวิตกกังวลทั้งสองฝ่ายได้ เลี่ยงการดมปากหรือตาผสานตาในตอนแรก เพราะอาจทำให้เกิดการท้าทายกันได้ ถ้าสุนัขเข้าสังคมไม่เก่ง หรือไม่ยอมกัน อาจสู้กัน หรือ เกิดการป้องกันตัวเกิดขึ้น ) เมื่อตัวเก่าดมเสร็จแล้ว อาจเบี่ยงความสนใจไปที่อื่น เดินไปที่อื่น แล้วเราค่อยปล่อยสายจูงตัวใหม่ แล้วเขาจะเดินตามไปดมกันเอง ระหว่างนี้เราต้องคอยจับตามอง ว่าการทักทายกันเป็นไปด้วยดี ถ้ามีสุนัขตัวใดทำการข่มอีกตัว ต้องคอยเตือน เช่น จ้องเขม็ง นิ่ง คอเกร็ง ยกหัวสูงกว่าไหล่อีกตัว หรือ ขึ้นขี่ ขึ้นคร่อม หรือ เอาขาหน้าแตะหัวหรือแตะไหล่อีกตัว หรือ ขู่ แยกเขี้ยว หรือ ขนต้นคอตั้งชัน เป็นต้น ถ้าเห็นอาการแบบนี้ ให้ตักเตือนทันที ถ้าเตือนไม่ทัน สงครามเกิดขึ้นแน่ๆ Happy Ending ! วิดีโอ เดินรวมฝูงแบบ Mastering the walk เพื่อให้สุนัขยอมรับสุนัขตัวใหม่ว่าเป็นหนึ่งในสมาชิกของฝูง ก่อนพิธีแนะนำตัว หรือ เจอกันแบบเป็นทางการ ยูจิเดินในสายจูงกับฝูง วันแรก และครั้งแรก เมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทย http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=yojajiji&month=25-11-2009&group=8&gblog=39 http://www.bangkaew.com/elearning3/mod/forum/discuss.php?d=899 |