"บางแก้ว”เพื่อน 4 ขา สินค้าส่งออกจากพิษณุโลก | |
ในบรรดาสุนัขพันธุ์ไทย ชื่อของสุนัขพันธุ์ "บางแก้ว" สำหรับผู้ที่ชื่นชอบกับการเลี้ยงสุนัขแล้ว ถือว่าไม่เป็นรองพันธุ์ใดๆ ในแง่ของความน่ารัก ความฉลาด และความซื่อสัตย์ที่มีต่อเจ้าของ สุนัขพันธุ์ "บางแก้ว" เป็นที่รู้จักแพร่หลายและเลี้ยงกันทั่วทุกภาคของประเทศไทย สิ่งที่เป็นเสน่ห์คือ ซื่อสัตย์ รักเจ้าของเป็นจุดเด่น สามารถที่จะฝึกให้เฝ้าบ้านหรือฝึกใช้งานอารักขาได้ แม้ว่าเดิมทีสายพันธุ์ค่อนข้างดุ แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาสายพันธุ์ให้มีนิสัยเข้าคนได้ง่าย ไม่ดุง่าย เป็นสุนัขของครอบครัว กว่าที่สุนัขพันธุ์ "บางแก้ว" จะเป็นสัตว์เลี้ยง จนขึ้นทำเนียบสุนัขยอดนิยม มีสองปัจจัยหลักที่สร้างให้เป็นสุนัขบางแก้ว คือ ธรรมชาติ และมนุษย์ ธรรมชาติ : คือสภาพแวดล้อมของถิ่นกำเนิดบ้านบางแก้ว ต.ท่านางงาม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ที่อยู่ติดแม่น้ำยมสายเก่า หรือคลองบางแก้ว เมื่อ 100 ปีก่อน ที่วัดบางแก้ว หลวงปู่มาก เมธารี (เกิดปี 2424 ที่จังหวัดอยุธยา ย้ายมาอยู่บ้านบางแก้วตามบิดา-มารดา บวชที่วัดบ้านกร่าง ร่ำเรียนศาสนาหลายจังหวัด และย้ายกลับมาจำอยู่ที่วัดบ้างแก้ว จนขึ้นเป็นเจ้าอาวาส มรณภาพเมื่อ 28 ตุลาคม 2504 อายุ 81 ปี 61 พรรษา) ครั้งมีชีวิตอยู่และเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 3 ชาวบ้านบางแก้วราย ได้นำสุนัขพันธุ์ไทย พื้นบ้านเพศเมียสีดำ ขนาดค่อนข้างใหญ่ถวายให้แก่หลวงปู่มากเลี้ยงอยู่ในวัด หลวงปู่มากเป็นพระใจบุญ เลี้ยงสัตว์ทุกชนิด ต่อมาสุนัขเติบโตขึ้นถึงวัยผสมพันธุ์ ได้ผสมพันธุ์กับสุนัขป่าซึ่งอาศัยอยู่ในป่าทึบบริเวณใกล้ๆ กับวัดบางแก้ว ถือเป็นจุดกำเนิด "สุนัขพันธุ์ไทยบางแก้ว" ทูล อินทรีย์ อดีตป่าไม้จังหวัดพิษณุโลก เล่าว่า สมัยนั้นรอบๆ วัดบางแก้วเป็นป่ารกชัฏ หมาป่าในเมืองไทยที่พบในเขต อ.บางระกำมี 2 สายพันธุ์ คือ หมาจอก หรือหมาจอกวอ เป็นหมาขนาดเล็ก หางเป็นพวง อยู่เป็นฝูง ปราดเปรียว ชอบขุดโพรงอยู่ตามที่ดอน หัวคันนา และหมาโจ๋ หรือ หมาแดง หรือ หมาใน เป็นหมาใหญ่ หัวกลม ปากแหลม ฟันคม ขนสีน้ำตาล ลำตัวยาว ขายาว วิ่งปราดเปรียวแข็งแรงมาก พื้นที่ ต.ชุมแสงสงคราม และ ต.ท่านางงาม อ.บางระกำช่วง 50-100 ปีที่ผ่านมา มีคลองบางแก้วไหลผ่าน ตอนล่างเป็นป่าพรุ น้ำท่วมขังเกือบตลอดปี ตอนบนเป็นป่าเต็งรังหรือป่าแดง ยาวขึ้นไปถึง อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย จนถึงอุตรดิตถ์ ฟากตะวันตกของแม่น้ำยมเป็นโครงป่าสักของกรมป่าไม้โครงการที่ 33 แนวเขตติดต่อ อ.พรานกระต่าย จ.กำแพงเพชร อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย อ.สามง่าม อ.โพทะเล จ.พิจิตร และ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ด้วยสภาพพื้นที่ป่าที่ต่อเนื่องกันเช่นนี้ ทำให้ฝูงหมาป่าทั้งสองสายพันธุ์มีแนวหากินกว้างมาก เมื่อหลวงปู่มากชอบเลี้ยงสุนัข และรอบวัดเป็นป่า ทำให้หมาพื้นเมืองที่เลี้ยงไว้ไปเกิดผสมพันธุ์กับหมาป่าบริเวณนั้น จนเกิดหมาพันธุ์ลูกผสมขึ้นมาใหม่ และด้วยสภาพแวดล้อมของบ้านบางแก้ว เป็นพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก น้ำเต็มท้องนาและใต้ถุนบ้านเรือน ทำให้สุนัขพันธุ์ไทยบางแก้วอาศัยอยู่ภายในบ้าน ในเรือนแพ ไม่สามารถออกไปนอกบ้าน โดยเฉพาะเข้าฤดูผสมพันธุ์ในหน้าฝน สุนัขบางแก้วย่อมผสมพันธุ์กันเอง จนสายพันธุ์แทบนิ่ง การผสมพันธุ์ที่เริ่มนิ่งจึงกลายเป็นสายพันธุ์เด่นเป็นหมาบางแก้วในปัจจุบัน ปัจจัยจาก มนุษย์ : นอกเหนือจากหลวงปู่มากแล้ว นายสัตวแพทย์นิสิต ตั้งตระการพงษ์ อดีตปศุสัตว์จังหวัดพิษณุโลก (เกษียณปี 2546) นับเป็นผู้ที่บุกเบิกพัฒนาทำให้ "บางแก้ว" เป็นที่ยอมรับในปัจจุบัน นิสิต ตั้งตระการพงษ์ เขียนไว้ในหนังสือ "หมาบางแก้ว สัตว์คู่บ้านคู่เมืองสองแคว" (2546) ระบุว่า ปี 2514 ได้ย้ายมารับราชการที่สถานีตรวจและรักษาโรคสัตว์จังหวัดพิษณุโลก (ปัจจุบันเป็นสำนักสุขศาสตร์สัตว์และสุขอนามัยที่ 6) ได้รักษาหมาบางแก้วที่เจ็บป่วยเป็นประจำ จากนั้นก็ได้ยินสิ่งที่ชาวเมืองพิษณุโลกพูดถึงเกี่ยวกับของดีเมืองพิษณุโลก บ่อยครั้งคือ “หลวงพ่อพระพุทธชินราช พระนางพญา หมาบางแก้ว” เดิมการซื้อหาหมาบางแก้วมาเลี้ยงค่อนข้างยาก ต้องนั่งเรือไปที่บ้านบางแก้ว หรือบ้านวังแร่ เพราะไม่มีถนน ขอซื้อก็ไม่ขาย ต้องเอาปืนลูกซอง 1 กล่อง ไปแลกกับลูกบางแก้ว 1 ตัว จากนั้นก็นำมาเลี้ยงที่บ้าน เพื่อศึกษานิสัย และแพร่พันธุ์ให้เพื่อนๆ เลี้ยง จึงเริ่มคุยกันในหมู่ผู้เลี้ยงจึงเริ่มประกวดหมาบางแก้วครั้งแรกเมื่อปี 2523 ที่หน้าศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก ประกวดประเภทพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ ในปี 2526 ได้ของบประมาณจากผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก (สืบ รอดประเสริฐ) เพื่อนำมาอนุรักษ์หมาบางแก้ว เริ่มแรกทีเดียวจะดำเนินการที่บ้านบางแก้ว ต.ท่านางงาม อ.บางระกำ ขณะนั้นหาผู้สนใจได้น้อยมาก จึงเปลี่ยนมาที่บ้านชุมแสง หมู่ที่ 2 ต.ชุมแสงสงคราม อ.บางระกำ ที่อยู่ใกล้กัน มีประเทือง คงเจริญ เป็นผู้ใหญ่บ้าน ให้การสนับสนุน จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นในการจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาหมาบางแก้วแห่งแรก ในประเทศไทยและของโลก ขณะที่ในส่วนของปศุสัตว์ ก็ได้ให้ความรู้เรื่องการเลี้ยง การผสมพันธุ์ การจดทะเบียน การป้องกันโรค ตลอดจนด้านการตลาด ครั้งนั้นได้ขึ้นทะเบียนพ่อพันธุ์บางแก้วไว้ 25 ตัว แม่พันธุ์ 60 ตัว ส่วนตัวผู้และตัวเมียที่ไม่เข้าลักษณะพันธุ์ดีได้จับควบคุมด้วยการตอน จากนั้นปศุสัตว์ได้จัดการประกวดสุนัขบางแก้ว เป็นประจำทุกปี ในงานกาชาดและงานนเรศวร ช่วงเดือนมกราคม ของแต่ละปี ช่วงแรกต้องเกณฑ์ให้นำมาเข้าร่วมประกวด ตั้งลักษณะเด่น 4 อย่าง คือ "ขนยาว ปากแหลม หูตั้ง หางเป็นพวง" เป็นการคัดเลือกสายพันธุ์ดีไปในตัว กระทั่ง "บางแก้ว" เริ่มดัง คนเริ่มหาซื้อลูกสุนัขไปเลี้ยง จึงมีการตั้งฟาร์มกันมากขึ้น มีการส่งประกวดมากขึ้น เริ่มมีการตั้งชมรมผู้เลี้ยงหลากหลาย มีการตั้งสมาคม สุดท้ายปี 2541 ชมรมต่างๆ รวมตัวกันกำหนดมาตรฐานพันธุ์ โดยมีปศุสัตว์จังหวัดพิษณุโลกเป็นผู้ออกประกาศมาตรฐานพันธุ์ที่ใช้กันทั่วไป โดยปี 2545 มีกำหนดมาตรฐานพันธุ์เพิ่มเติมคือหมาบางแก้วสีขาว-น้ำตาล และการประกวดในงานกาชาดปีนั้น ก็มีการประกวดสองประเภท คือ สีขาว-น้ำตาล และประกวดสีทั่วไป กระทั่งถึงปัจจุบัน 2552 มีมาตรฐานพันธุ์ 3 สี คือ ขาว-น้ำตาล ขาว-ดำ และขาว-เทา พิชัย คำสุวรรณ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุนัขไทยพันธุ์บางแก้วจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า เพื่อยกระดับสายพันธุ์บางแก้ว ได้มีการพัฒนาจิตประสาทแก่สุนัขไทยบางแก้ว ด้วยการคัดเลือกสายพันธุ์ และการเลี้ยงดูที่เอาใจใส่พาออกสังคม ทำให้ขณะนี้สุนัขบางแก้วจำนวนมากที่ออกสู่ท้องตลาดสามารถเข้ากับคนให้ง่าย จิตประสาทนิ่ง ไม่โหดร้าย สามารถให้ผู้อื่นเลี้ยง แต่คงความรักต่อเจ้าของ สุนัขบางแก้วแท้ตรงตามเกณฑ์ จะเป็นสุนัขขนาดกลาง มาตรฐาน 3 สี คือ ขาว-ดำ ขาว-น้ำตาล และขาว-เทา โครงสร้างสี่เหลี่ยมจัตุรัส สัดส่วนที่กลมกลืน เคลื่อนไหวคล่องแคล่ว พฤติกรรมตื่นตัว ร่าเริง รักเจ้าของ เชื่อมั่นใจตัวเอง จิตประสาทมั่นคง ไม่ขลาดกลัว ซื่อสัตย์ หวงแหนทรัพย์สิน ฉลาด กล้าหาญ ฝึกใช้งานได้ สีมาตรฐานใน 3 สี คือ ขาว-ดำ ขาว-น้ำตาล และขาว-เทา ตามลักษณะเด่น คือ หัวกะโหลกค่อนข้างใหญ่, จมูกสีดำได้สัดส่วนกับปาก, ปากยาวปานกลาง โคนปากใหญ่เรียวจรดปลายจมูก, ริมฝีปากแนบสนิท สีเข้ม, ปากคาบแก้ว, สต็อปมีมุมหักเล็กน้อย, ขากรรไกร ขบกันสนิท, ฟันเล็กแหลมคม สุนัขโตควรครบ 42 ซี่, ตาเล็ก เหมือนเม็ดอัลมอนด์ สีดำหรือน้ำตาล, หูสามเหลี่ยมตั้งป้องไปข้างหน้า, คอใหญ่ล่ำสัน แผงขนยาวรอบ, หลังเส้นตรง, ขาหน้าใหญ่กว่าขาหลัง, ขาหลังมีขนยางคล้ายแข้งสิงห์, อุ้งเท้ากลมคล้ายอุ้งเท้าแม้ว ขนคลุมนิ้วเท้า, ขนหางเป็นพวง-โคนหางใหญ่ ส่วนข้อบกพร่อง คือ ตาหรือ จมูกสีอ่อน ห่างไพล่ ไม่มีแผนขนรอบคอ ไม่มีแข้งสิงห์ หูใหญ่ ปากใหญ่ ตากลมโต หลังโก่ง หลังแอ่น เขา กล่าวว่า ตามข้อมูลทะเบียนบัตรประจำตัวสุนัขบางแก้วทั้งหมดที่สังกัดในพิษณุโลกมี 2 สมาคมคือสมาคมส่งเสริมอนุรักษ์และพัฒนาสุนัขไทยบางแก้ว (ในประเทศไทย) ก่อตั้งเมื่อปี 2545 และสมาคมผู้เลี้ยงสุนัขไทยพันธุ์บางแก้วจังหวัดพิษณุโลก ก่อตั้งเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2548 กับอีก 4 ชมรม ประเมินว่า สุนัขบางแก้วจำหน่ายออกสู่ตลาดต่างจังหวัดและกรุงเทพมหานครปีละไม่ต่ำกว่า 4,000 ตัว ราคาเฉลี่ย 3,000 บาทขึ้นไป ซึ่งสุนัขบางแก้วแท้และมีจุดเด่นสามารถเข้าประกวดตามเกณฑ์ราคาค่อนข้างแพง ราคาซื้อขายตัวละ 10 ,000 บาทขึ้นไป สำหรับลูกสุนัขที่สามารถจำหน่ายได้ราคาแพงเกิน หมื่นบาทขึ้นไป เป็นเพราะตลาดมีความต้องการ สายพันธุ์บางแก้วที่นิ่ง ไม่มีความดุร้ายเหมือนในอดีต สามารถเข้ากับคนอื่นได้ที่ไม่ใช้เจ้าของได้ สุนัขพันธุ์บางแก้วนอกจากนิยมเลี้ยงเพาะพันธุ์กันมากในประเทศไทยแล้ว ยังเป็นที่ยอมรับจากนานาชาติ ในเอเชีย สมาพันธ์สุนัขเอเชีย หรือ AKU หรือ (Asia kennel union) ให้การยอมรับ และปัจจุบัน สมาคมพัฒนาพันธุ์สุนัขแห่งประเทศไทย ได้นำสุนัขบางแก้วขอขึ้นทะเบียนกับสมาพันธ์สุนัขโลก หลังจากที่นานาชาติให้การยอมรับสุนัขพันธุ์ไทยหลังอานมาแล้ว 1 สายพันธุ์ โดยอยู่ระหว่างการพัฒนาสายพันธุ์ให้นิ่งตามลักษณะ 5 ชั้นหรือ 5 โคตร เพื่อเข้าเกณฑ์และขึ้นทะเบียนสุนัขโลก ให้ได้ตาม ที่สมาพันธ์สุนัขโลก หรือ FCI หรือ Federation Cynologique International ได้กำหนดไว้ "ถ้าสุนัขบางแก้วได้รับการยอมรับขึ้นทะเบียน สุนัขโลกแล้ว ถึงเวลานั้น ตลาดบางแก้วจะขยายตัวมากขึ้น จะกลายเป็นสินค้าส่งออกที่ทำรายได้เข้าประเทศและสร้างงานให้กับคนไทยอีกมาก ขณะนี้ พล.ต.ต.วีระพงษ์ สุนทรางกุล นายกสมาคมพัฒนาพันธุ์สุนัขประเทศไทย และสมศักดิ์ เตชะปิติ รองนายกสมาคมพัฒนาพันธุ์สุนัขประเทศไทย ก็พยายามที่จะทำให้สุนัขไทยบางแก้วได้รับการรับรองจากสมาพันธ์สุนัขโลกให้ สำเร็จในปี 2552 นี้" นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุนัขไทยพันธุ์บางแก้วจังหวัดพิษณุโลก ระบุ จ.ส.อ.บุญเชิด เนียมหอม เจ้าของคอกเพชรภูเขาฟาร์ม บอกว่า มีอาชีพรับราชการทหาร มาสนใจเลี้ยงและทำฟาร์มเลี้ยงสุนัขบางแก้วเมื่อปี 2548 เพราะใจรัก และอยากใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์สร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัว ปัจจุบันมีสุนัขแม่พันธุ์ 15 ตัว สุนัข พ่อพันธุ์ 3 ตัว ส่วนรายได้นั้น โดยเฉลี่ยแล้ว มีสมาชิกสมาคมผู้เลี้ยงสุนัขบางแก้วจังหวัดพิษณุโลกมีรายได้จากการจำหน่าย ลูกสุนัขไม่ต่ำกว่าคอกละ 100,000 บาทต่อปี หลายฟาร์มได้หลายแสนบาท เมื่อนำไปประกวดแล้วได้รางวัลจะยิ่งเพิ่มราคาให้กับสุนัขอีกมาก นกแก้ว นิดรัก จาก อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก บอกว่า คนที่นี่รุ่นก่อน จะเลี้ยงหมาดุไว้เฝ้าบ้าน เฝ้าทรัพย์สิน เครื่องจักร การเกษตร บ้านเรือนไม่มีรั้วรอบขอบชิด ความดุดันของบางแก้วไว้ใจได้ และยังรักเจ้าของ จนทราบกิตติศัพท์ถึงความดุ ต่อมาก็มีคนต่างถิ่นมาขอลูกหมาจากวัดไปเลี้ยงต่อๆ กันไป หมาบางแก้วจึงมีชื่อเสียง บ้านเรือนตามแหล่งชุมชนริมแม่น้ำยมเลี้ยงไว้บ้านละ 1-2 ตัว ล้วนมีแหล่งกำเนิดที่วัดบางแก้ว ต.บางแก้ว อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก สำหรับครอบครัวนั้น เลี้ยงไว้ 4-5 ตัว เป็นตัวเมียไว้สำหรับเพาะลูกหมาออกขาย จำหน่ายตัวละ 1 พันบาทขึ้นไป ในแต่ละปีจะออกมา 6-8 ตัวโดยเฉลี่ยก็สร้างรายได้แก่ครอบครัว "ผมก็เลี้ยงไว้ 3 ตัว ไว้เฝ้าบ้านตามใต้ถุน พอรู้ว่า กำลังมีประจำเดือนที่อวัยวะเพศ ก็เตรียมขังกรงได้เลย เพื่อนำหมาตัวผู้มาผสม เพื่อที่จะได้ลูกหมาสวยๆ เพื่อให้ขายได้ราคา การเลี้ยงสุนัข บางแก้วก็สนุกดี เลี้ยงไม่ยาก เพียงให้อาหารที่เหลือจากคนกินเท่านั้น เพียงแค่เวลาหมาคลอดลูกจะกินมากหน่อยต้องซื้อเศษอาหารมาเพิ่มเติม เพราะต้องบำรุงลูกที่คลอดออกมาจำนวนมากในแต่ละคอก สิ่งที่อยากได้คือ ต้องการให้หน่วยราชการเข้ามาส่งเสริมและสนับสนุนอุปกรณ์การเลี้ยงต่างๆ เพื่อพัฒนาสายพันธุ์ให้ดีขึ้น เพื่อให้ชาวบ้านแถบท่านางงามจำหน่ายสุนัขบางแก้วมีราคามากขึ้น ยอมรับว่า ทุกวันนี้ก็มี กลุ่มผู้ขายหมา ซื้อหมายกคอกไปจำหน่ายก็มี ขณะที่สมาคม ผู้เลี้ยงสุนัขไทยพันธุ์บางแก้ว พิษณุโลกได้สนับสนุนนำพ่อพันธุ์มาให้ผสมพันธุ์ก็ถือว่า ดีในระดับหนึ่ง ลูกหมาออกมาจำหน่ายได้ เพราะคุณภาพสุนัขสวยเป็นที่ยอมรับ" ทิ้ง นิดรัก จาก อ.บางระกำ ให้ข้อมูล นี่คือภาพของความเป็นมา จากอดีตถึงปัจจุบันของเพื่อนสี่ขาที่ชื่อ "บางแก้ว" มงคลเชาวราช ทั่งมั่งมีhttp://www.bangkokbiznews.com/2009/01/11/news_27984844.php?news_id=27984844 |