บางแก้ว เอกลักษณ์ไทยที่ต้องจารึก
เนตรนภา โพธิ์ดี , มหาวิทยาลัยนเรศวร 7 กุมภาพันธ์ 2550 |
หากพูดถึงสุนัขบางแก้ว คงไม่มีใครไม่รู้จัก สุนัขที่ขึ้นชื่อเรื่องความดุ และมีความสวยงาม เนื่องจากต้นกำเนิดมีเลือดผสมของ 3 สายพันธุ์ ด้วยเรื่องราวที่เล่าต่อกันมาว่ามีต้นกำเนิดจากสุนัขจิ้งจอกและสุนัขป่า(บ้างเรียกหมาใน) สัตว์ป่าที่มีโอกาสเข้ามาแอบลักลอบได้เสียกับสุนัขไทยตัวเมียในวัดบางแก้ว ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำยม อยู่ติดกับแนวป่าต้นไม้ขึ้นหนาแน่นเหมาะสำหรับเป็นที่อยู่ของสัตว์ป่านานาพันธุ์ ใน ต.ท่านางงาม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ลักษณะของสุนัขบางแก้วแท้ ต้องสังเกตรวมถึง 16 จุดทั่วร่างกาย คือ ส่วนหัวกะโหลก ค่อนข้างใหญ่ ได้สัดส่วนกับลำตัว จมูก มีสีดำได้สัดส่วนกับปาก ปาก ยาวปานกลางโคนปากใหญ่เรียว ฟันบนเกยอยู่ด้านนอก ตา เล็กคล้ายเมล็ดอัลมอนด์ หู สามเหลี่ยมได้สัดส่วนกับหัว คอ มีแผงขนยาวรอบคอ ลำตัว หลัง เส้นหลังตรง อก กว้างและลึกได้ระดับกับศอก สะโพกใหญ่และแข็งแรง หาง เป็นพวง ขาหน้า ใหญ่กว่าขาหลังคล้ายแข้งสิงห์ ขาหลัง เวลายืนทำมุมพอเหมาะกับขาหน้า เท้า อุ้งเท้ากลมคล้ายอุ้งเท้าแมว มีขนยาวคลุมนิ้วเท้า ขน-สีขน ขน ยาวปานกลางสองชั้น สี ขาว-น้ำตาล ขาว-ดำ ขาว-เทา เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นบางแก้วแท้ ไม่ใช่บางกลาย (บางแก้วกลายพันธุ์) วัฒนธรรมการสืบทอดสายพันธุ์ของบางแก้วสมัยนี้ไม่ได้สุ่มเลือกเหมือนก่อน ที่ปล่อยให้เขาเลือกคู่กันเอง สุดท้ายก็ได้ลูกหน้าตาผิดเพี้ยนไป เพราะไม่ได้สนใจเลือกคู่ที่รูปร่างหน้าตาพันธุ์เดียวกัน แต่คนจะเป็นผู้หาพ่อพันธุ์ที่ดีให้กับแม่พันธุ์ ครั้นจะให้สมยอมกันเลยก็ไม่ได้ ฝ่ายหญิงจะต้องเสียค่าสินไหมก่อนมีอะไรกันตั้งแต่ 2,500-10,000 บาท หรือเลือกที่จะต้องเสียลูกที่หน้าตาดีที่สุดให้ฝ่ายชายไป ในบางครั้งฝ่ายหญิงต้องช้ำชอกระทมใจ เพราะเจ้าของฝ่ายชายไม่ยอมให้ผสมพันธุ์ด้วย เนื่องจากฝ่ายหญิงมีตำหนิ ครั้นจะให้มาติดสัด มีลูกมีเต้าไปด้วยถือเป็นการเสียชื่อเจ้าของ ขณะนี้สุนัขบางแก้วได้ผ่านการรับรองสายพันธุ์กับสหพันธ์สุนัขเอเชีย(AKU) แล้ว และกำลังได้บรรจุเป็นสุนัขพันธุ์ไทย ระดับโลกกับสมาพันธุ์สุนัขโลก(FCI) ต่อไป แต่คงเป็นหนทางแห่งอนาคตที่ยาวไกลกว่า 10 ปี เพราะต้องผ่านการจดทะเบียนรากเหง้าตระกูลไม่ต่ำกว่า 5 รุ่น มีเกณฑ์ทะเบียนประวัติอย่างต่ำ 1,000 ตัว ทุกตัวมีประวัติพ่อหรือแม่พันธุ์หลายชั่วอายุ ลักษณะเด่นอีก 8 สายเลือด โดยที่ ผาไท สุนัขในคอกเพิ่งเป็นทายาทรุ่นที่ 3 ที่มีการบันทึกข้อมูลอย่างถี่ถ้วน และกว่าผาไทจะมีลูกได้ต้องรอให้มีอายุปีครึ่ง-2 ปี เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ นายเจษฎา แสงจันทร์ หลานเจ้าของคอกชุมแสงสงคราม กล่าวว่า ในปัจจุบันได้มีชมรมอนุรักษ์และพัฒนาสุนัขไทยบางแก้ว พิษณุโลก สมาคมส่งเสริมอนุรักษ์และพัฒนาสุนัขไทยบางแก้วแห่งประเทศไทย และสมาคมพัฒนาพันธุ์สุนัขแห่งประเทศไทย เข้ามาดูแลในเรื่องการพัฒนาสายพันธุ์ให้สามารถจดทะเบียนรับรองจากต่างประเทศเพื่อเพิ่มมูลค่าของสุนัข ซึ่งในขณะนี้ ราคาสุนัขบางแก้วอยู่ที่ตัวละ 3,500 20,000 บาท ถ้าบางแก้วมีราคาสูงขึ้น จะกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่นยกระดับมาตรฐานสุนัขบางแก้ว และสร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักแก่ชาวต่างชาติ แต่สุนัขที่สามารถโกอินเตอร์ได้นั้นต้องเป็นสุนัขที่เป็นมิตร ทางเจ้าของคอกและสมาคมต่างๆ จึงได้ริเริ่มการพัฒนาสายพันธุ์บางแก้วให้ลดความดุลง มีความใจดีมากขึ้น โดยนำบางแก้วใจดีมาผสมพันธุ์กัน ร่วมกับฝึกให้เขาเข้าสังคม ดูแลเอาใจใส่เขาเยอะๆ พาเขาไปเล่นน้ำ ไปเดินเล่นข้างนอกบ้าง ให้เขาได้เจอผู้คน ได้เล่นได้สนุก สนองอารมณ์ของเขา เขาก็จะน่ารักไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใคร แต่ในเรื่องของนิสัยขี้อิจฉาไม่ชอบให้ใครอยู่ใกล้เจ้านายตัวเอง เจ้าประจบเป็นนิสัยที่ติดตัวมาแต่บรรพบุรุษแล้ว เหตุผลเพียงแค่เขารักเจ้าของ หวงถิ่นฐานและหวงของภายในบ้านเท่านั้นเอง ยิ่งในเรื่องของความเฉลียวฉลาด ไอคิวสูงด้วยแล้วจึงมีคุณสมบัติที่จะเป็นสุนัขตำรวจเป็นอย่างมาก แต่นายเจษฎา ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า บางแก้วคงฉลาดเกินไป ค่อนข้างไฮเปอร์ อยู่เฉยๆไม่ได้ จากคุณสมบัติเรียนรู้เร็วของเขา พอเขาฝึกได้แล้ว เขาจะเริ่มเล่น ดื้อ ไม่ฟังคำสั่ง ทำตัวไร้กฎเกณฑ์ทันที มีความเป็นตัวของตัวเองมาก กลายเป็นสุนัขที่ไม่เชื่องไปเลย เหตุผลการพัฒนาโดยแท้จริงน่าจะมาจากธุรกิจมากกว่าความต้องการเพียงประกาศสายพันธุ์บางแก้วให้ชาวโลกได้รับรู้ เพราะขณะนี้บางแก้วกำลังก่อร่างสร้างตัวให้ต่างประเทศได้รู้จักและมีความต้องการสั่งซื้อไปเลี้ยง หากการพัฒนาสายพันธุ์นำไปสู่วิถีชีวิตสุนัขที่เปลี่ยนไป การเปลี่ยนแปลงนิสัยดั้งเดิม ที่มี ความดุ เป็นที่กล่าวขาน ก็คงไม่ใช่บางแก้วอีกต่อไป ถึงไทยจะเป็นประเทศที่ริเริ่มสายพันธุ์ แต่สุดท้าย อาจกลับกลายเป็นถูกตราหน้าว่าเป็นประเทศที่ทำให้มันสูญพันธุ์ไปก็ได้เช่นกัน |