นิวัต เจริญชล

หน้า: (หน้าก่อน)   1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18 ...210   (ต่อไป)
โดย นิวัต เจริญชล - Friday, 26 May 2006, 03:59PM
  มาอ่านดูอีกที ผมว่าพี่วิเชียร เขียนอะไรที่ไม่มีมารยาทเอามากๆ นะครับ

อย่างที่เขียนว่า

"เสียดายที่หมาระดับประกวดต้องมาอยู่ในบ้านอุปถัมป์(Foster Home)ร่วมกับหมาตกยากอื่นๆ แทนที่จะได้ไปช่วยสร้างสีสันให้กับเวทีประกวดบ้าง"

ทำไมพี่ถึงคิดว่า บ้านผมไม่เหมาะที่จะเลี้ยงหมาอย่างหนูสวย บัลลังค์ และไหมฟ้าล่ะครับ, หมาตกยากอืนๆ มันก็หมาผมทั้งนั้นนะครับ ผมรับมาเลี้ยง ผมก็รักมันทุกตัวเท่าๆกันหมด และเลี้ยงเหมือนกันทุกตัว อยู่ดีมีสุข กินอาหารแบบเดียวกัน เล่นอยู่ด้วยกัน มันผิดตรงไหนหรือครับ หรือว่ามันไม่ดีตรงไหน ผมไม่เข้าใจ และการที่บ้านผมรับหมามาอุปการะ ก็เป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้วนี่ครับ

และ

"คุณนิวัตก็มีหมาดีๆอย่างหนูสวยและบรรลังค์อยู่ น่าจะเอามาช่วยสร้างสีสันให้กับเวทีประกวดบ้างนะ แม้อาจจะไม่ได้ที่ 1 ก็ตาม ที่พูดแบบนี้ อย่าเข้าใจผิดคิดว่าประชดนะ"

ผมไม่ได้คิดว่าพี่ประชดหรอกครับ ผมว่าพี่กำลังดูถูก เจ้าหนูสวยกับเจ้าบัลลังค์มากกว่าครับ แม้กระทั่งหมาที่อยู่ในบ้านแท้ๆ พี่ยังเอามาพูดดูถูกแบบไม่ให้เกียรติกันแบบนี้ พี่มีสิทธิ์อะไรหรือคับ กับหมาของพี่ หรือของคนอื่น ผมก็ไม่เคยที่จะวิจารณ์เลยสักนิดนะครับ ไม่เคยพูดถึงด้วยซ้ำ

ผมไม่ประกวด มันก็เรื่องของผมสิ ไม่ใช่เรื่องของคนอื่นเลย ผมเลี้ยงหมาให้นิสัยดี เลี้ยงให้ไม่ก้าวร้าว เลี้ยงให้สามารถควบคุมได้ ไม่ได้เลี้ยงไว้ประกวด ผมผิดด้วยหรือครับ มีหน้าที่เลี้ยงก็เลี้ยงให้ดี แค่นั้นน่าจะพอแล้วนะ


โดย นิวัต เจริญชล - Friday, 26 May 2006, 02:59PM
  พี่วิเชียรครับ สิ่งที่ผมเขียนนั้นเป็นข้อมูลมาจากประสบการณ์ เป็นเวลาเกือบปีที่ผมใช้เวลาอยู่ในสนามประกวดนะครับ ก่อนดอตคอมจะเกิดด้วยซ้ำ ผมพบหมา เจ้าของหมา และฟาร์มต่างๆมากมาย จนพอที่จะมีประสบการณ์ มีข้อมูลมาเล่า มาบอกกันฟังได้ และผมยังไม่เคยเจอดอตคอม ตัวจริงๆเลย ดังนั้นข้อมูลที่ผมเขียนไม่ใช่ตั้งใจเขียนเจาะจงถึงดอตคอมแน่นอน

เรื่องการออกกำลังกาย หนักๆ พาหมาอายุไม่ถึงปี วิ่งกับคน หรือรถ แม้กระทั่งวิ่งจ๊อกกิ้งยามเช้าก็ตามนั้น เป็นข้อมูลทางวิชาการ ที่มีเขียนไว้ในเวปไซด์ต่างๆ ของต่างประเทศหลายๆที่ครับ ผมไม่ได้เจาะจงที่เฉพาะดอตคอม อย่างที่พี่เข้าใจไปเองหรอกนะครับ

และความรู้ในด้านสรีระ ของสุนัขนั้น จะเห็นได้ว่าในระยะเวลาจากแรกเกิดถึง 15 เดือนนั้น สุนัขจะมีการยืดตัวตลอดครับ ช่วงนี้กระดูก และเอ็นจะไม่แข็งแรง แม้กระทั่งสุนัขใช้งาน ก็จะไม่สามารถฝึกหนักๆ ได้ในช่วงนี้ครับ

มีสุนัขหลายๆตัวที่ขาหน้าบิด ขาหลังเสีย หลายต่อหลายตัว ที่ผ่านตาผม และหลายตัวเป็นสุนัขที่เดินประกวดอยู่ด้วย...เป็นเนื้อหาทางวิชาการ ที่เป็นความรู้ ที่ทุกคนควรจะทราบอย่างแท้จริงครับ ไม่ใช่ผมเดาเอาเอง และผมเห็นว่าหลายคนยังมีความเข้าใจที่ผิดๆ กับเรื่องนี้อยู่มาก...

ทำไมผมไม่เอาหมามาเดินประกวดบ้าง? ผมไม่ได้เลี้ยงหมาเพื่อประกวดครับ ผมเลี้ยงหมาเพราะผมรักมัน ผมมีหน้าที่เลี้ยงพวกเขาให้ดีที่สุดเท่านั้น เรื่องอื่นๆไม่ใช่หน้าที่ของคนเลี้ยงหมาอย่างผมครับ ผมศึกษาเพราะอยากรู้เท่านั้น


โดย นิวัต เจริญชล - Thursday, 25 May 2006, 02:38PM
  (ต่อครับ)

ผมเสียดายแทนหลายๆคน ที่อยากและมีความตั้งใจที่จะทำประกวดนั้นพลาด และมองข้ามเรื่องเหล่านี้ไปอย่างน่าเสียดาย เพราะความรู้ และประสบการณ์เหล่านี้ จะช่วยให้เราสามารถเลือกหมา ที่จะสามารถลุ้นได้ในระยะยาว ยืนระยะอยู่ได้จนถึงรุ่น 18 เดือน รุ่นโอเพน หรือเข้าถึงรุ่นแชมเปี้ยนคลาส เพราะผู้ที่ตั้งใจทำการประกวดนั้น ก็อยากจะทำประกวดในระยะยาว แต่หลายๆคนที่เห็น พอพ้นรุ่นเล็กๆไปแล้ว ก็หายไปจากเวทีประกวดเลย เพราะพอกระดูกยืดตัว ข้อบกพร่องของสุนัขที่โครงสร้างก็จะปรากฏชัดเจนขึ้น จนวันนึงที่เราดูเป็น เราก็จะรู้ว่าหมาตัวนั้นไม่ใช่เพชรที่จะนำมาเจียรนัยเสียแล้ว

สาเหตุส่วนใหญ่ก็เพราะมองข้ามเรื่องของการเลือกสุนัข มองข้ามการหาความรู้ในการมองข้อบกพร่องของสุนัขที่เราจะเอามาทำประกวดก่อนที่จะตัดสินใจซื้อสุนัขมาทำประกวดนั่นเอง ซึ่งมันต้องเลือกจากหลายๆตัว เอาตัวที่บกพร่องน้อยที่สุดมาเดินประกวด เลือกด้วยสายตาเราเอง จากประสบการณ์ของเราเอง ถ้าเริ่มต้นโดยที่มองข้ามขั้นตอนในการคัดเลือกลูกสุนัข และดูข้อบกพร่องของสุนัขอย่างละเอียดแล้วนั้น มันก็เหมือนกับไม่ได้อยู่ในใจกรรมการแต่แรกแล้วหล่ะครับ เพราะกรรมการทุกคนที่ลงตัดสินนั้น สิ่งที่ทำให้เขาตัดสินแพ้หรือชนะได้ ก็คือการดูข้อบกพร่องของสุนัขทั้งนั้นแหละครับ เขามาดูว่าวันนี้ รอบนี้ หมาตัวไหนมีข้อบกพร่องน้อยที่สุด เขาไม่ได้มาดูว่าหมาตัวไหนสวยที่สุดหรอกครับ

นี่อาจจะเป็นความหมายส่วนหนึ่งของคำพูดดีๆที่ว่า ถ้าอยากเล่นสุนัขประกวด ต้องดูสุนัขให้เป็น ฟังให้มาก เรียนรู้ให้มาก อย่างที่พี่เพื่อนบางแก้ว บอกไว้ก็ได้นะครับ ผิดถูกอย่างไร แนะนำกันเพิ่มเติมได้นะครับ

โดย นิวัต เจริญชล - Thursday, 25 May 2006, 02:00PM
  ขอเสริมอีกนิด

สุนัขที่จะนำมาเดินประกวด (อย่างประสบความสำเร็จ) ได้นั้น จะต้องมีข้อบกพร่องน้อยที่สุด ซึ่งข้อบกพร่องเหล่านี้ เบื้องต้นและสำคัญที่สุดนั้นโดยส่วนใหญ่ถ่ายทอดมาจากกรรมพันธุ์ และถ้าบกพร่องมาแต่เกิดแล้วจะไม่สามารถแก้ไขได้ ด้วยการเลี้ยงดู

(โดยหลักความเป็นจริงนั้น ใน 1 คอก ลูกสุนัขแต่ละตัวจะได้รับการถ่ายทอดมาไม่เหมือนกัน แต่ละตัวจะมีข้อบกพร่องที่ถ่ายทอดมามากหรือน้อย ก็แล้วแต่ บางตัวได้ข้อดีจากพ่อและแม่มา, บางตัวก็ได้ข้อดีจากแม่ แต่ก็ดันได้ข้อเสียจากพ่อมา, หรือไม่ก็บางตัวได้แต่ข้อด้อยมาล้วนๆ ดังนั้นสุนัขใน 1 คอก จึงไม่ใช่สุนัขที่จะลงสนามประกวดได้ทุกตัว และไม่สามารถกล่าวอ้างได้ว่า ถ้าพ่อชื่อนี้ และแม่ชื่อนี้ ลูกทุกตัวจะออกมาดีหมด สามารถประกวดได้หมด เช่นเดียวกัน ต้องดูเป็นรายตัวไป)

แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าได้ลูกสุนัขมีโครงสร้างที่ดีอยู่แล้ว ตั้งแต่เกิดแต่เราเอามาเลี้ยงดูไม่ดี ก็จะสามารถทำให้โครงสร้างของสุนัขตัวนั้นเกิดความบกพร่องได้เช่นกัน เช่น

- การเลี้ยงสุนัขในพื้นที่ๆลื่น มีผลทำให้ขาบิดไปด้านข้าง และเวลายืนสุนัขไม่กล้าลงน้ำหนักเต็มเท้า จะยืนด้วยนิ้วเท้า ซึ่งสุนัขที่ยืนแบบนี้ จะไม่ถูกตัดสินให้ชนะอยู่แล้ว ยกเว้นในวันนั้นยืนเหมือนกันหมด

- หรือการที่พยายามจะพาหมาเด็กๆ ที่อายุไม่ถึงหนึ่งปี ออกกำลังกายที่หนัก เช่นพาวิ่งกับคน กับรถ เพื่อจุดประสงค์ให้หมาวิ่งเปิดเท้าได้เต็มที่ เพราะมันต้องวิ่งให้เร็วขึ้นเพื่อให้ตามเราให้ทันนั้น จะมีผลโดยตรงกับข้อเท้าของสุนัขที่ยังอยู่ในระหว่างยืดตัว ถ้าน้ำหนักตัวสุนัขมากๆ แรงกระแทกที่ลงไปที่เอ็นข้อเท้าที่ยังไม่แข็งแรงเต็มที่ ก็จะมีผลทำให้ปลายขาหน้าจากที่เคยตรงนั้นบิดออกได้ อย่างที่เป็นกับหมาหลายๆตัว

- หรือการปล่อยให้วิ่งเล่นแรงๆ กับหมาตัวใหญ่ หรือหมาโต ซึ่งมีการกระแทกรุนแรง ทำให้การทรงตัวฝืนธรรมชาตินั้น ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สรีระของหมาที่เคยดี เสียไปได้อย่างน่าเสียดาย

จะเห็นได้ว่าแบบทดสอบของกรรมการในสนามประกวดทั้งหมดนั้น จะมีทั้งวิ่งทางตรง ทางเฉียง ทางโค้ง การยืนโพสต์ นั้นเป็นแบบทดสอบที่ครบถ้วนสมบูรณ์ ที่ออกแบบมาให้สามารถทำให้เห็นข้อบกพร่องตามธรรมชาติของสุนัขแต่ละตัวที่ลงประกวดได้ โดยผู้จูงนั้นไม่สามารถปิดบัง หรือหลบเร้นข้อบกพร่องของสุนัขตัวเองได้เลย จะทำได้ก็เพียงอาศัยเทคนิคนิดหน่อย แต่โดยรวมแล้ว ข้อบกพร่องมันจะแสดงออกมาเองตามธรรมชาติ ซึ่งไม่ว่าผู้จูงจะเก่งเพียงไหน ก็ไม่สามารถปิดบัง สายตากรรมการได้ในทุกๆแบบทดสอบ บนสนาม

ดังนั้น การที่เราจะส่งสุนัขเข้าประกวด หรือทำฟาร์มประกวดนั้น จะต้องดูหมาที่เราจะส่งเข้าประกวดให้เป็น และเลี้ยงดูฟูมฟักเป็นอย่างดี เพื่อให้เพชรเม็ดงามนั้นฉายแสงจิดจ้า ในเวลาที่เหมาะสม และเพชรเม็ดนั้นก็จะเป็นเพชรที่อยู่คู่วงการบางแก้ว และเป็นความภูมิใจของเจ้าของตลอดไป

โดย นิวัต เจริญชล - Thursday, 25 May 2006, 01:25PM
  ได้อ่านมาสอง-สามวันแล้ว สำหรับกระทู้นี้ ขอออกความเห็นเพิ่มเติมสักนิดนึง จากประสบการณ์ของตัวผมเอง คงไม่ว่ากันนะครับ

เรื่องราวต่างๆของการประกวดสุนัข ในสนามต่างๆ ทั้งสนามท้องถิ่น หรือสนามของสมาคมฯ นั้น มีเทคนิค และลูกเล่น มารยาท และกติกา อะไรต่างๆมากมาย ที่น่าศึกษา น่าเรียนรู้ ถ้าเราตั้งใจว่าจะทำหมาประกวด หรือจะเป็นบรีดเดอร์ ในอนาคต เพราะที่สนามประกวดนั้น เราจะได้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างตัวที่ชนะ กับตัวที่แพ้ ในแต่ละรอบ เราจะค่อยๆมองออกว่า ตัวที่แพ้ในวันนี้แพ้เพราะอะไร มีข้อบกพร่องที่ตรงไหน กรรมการมีหลักการดูอย่างไร และที่สำคัญมีผู้ร่วมประกวดให้เราถามข้อสงสัยหลังเวทีอีกต่างหาก เพราะผู้เข้าร่วมประกวดนั้นแต่ละคนมีประสบการณ์เข้าประกวดมามากมายหลายเวที เรียกได้ว่า พอลงสนามก็รู้ได้เลยว่าหมาตัวไหนจะชนะ วันนี้เราสู้ได้หรือไม่ได้

ผมใช้เวลาเป็นปี ในการศึกษารายละเอียดต่างๆในสนามประกวด เก็บเกี่ยวความรู้ และประสบการณ์จากการเข้าไปสัมผัสบรรยากาศจริง ได้รับคำแนะนำมากมายจากพี่ๆ ทั้งหลาย ซึ่งหลายๆคนเป็นกรรมการชมรมไทยบางแก้วทั้งนั้น หมาทุกตัวที่ลงสนามในแต่ละรอบ ผมจะเช็คชื่อ ฟาร์ม ว่าเป็นหมาจากไหน ของใคร ใครลงรอบนี้บ้าง ตัวไหนแปลกตามาจะรู้ทันที ถ้าจะสังเกตดีๆ ในการประกวดเกือบทุกสนามในปีที่แล้ว ผมจะยืนอยู่ด้านในสุด บางทีก็ยืนอยู่ในสนามเลย ก็ว่าได้ เพื่อที่จะได้อยู่ในตำแหน่ง และทิศทางเดียวกันกับกรรมการ เพื่อที่จะได้เห็นข้อบกพร่องในมุมเดียวกันกับกรรมการ และทดลองเลือกคำตอบในใจดูว่าตัวไหน ที่น่าจะเป็นที่ 1,2,3 และก็รอผลการตัดสินจากกรรมการ เป็นตัวตรวจสอบสายตา และความรู้ในการมองข้อบกพร่อง ของสุนัขแต่ละตัวของผมว่า อยู่ในมุมมองเดียวกันกับกรรมการหรือไม่ และเมื่อออกจากสนามมาแล้ว ผมก็จะมาคุยวิเคราะห์กับพี่ๆ ที่เดินประกวดกันอีกว่าแต่ละตัวแพ้-ชนะเพราะอะไร

นอกจากนั้น ผมได้ตระเวนดูหมาจากคอกต่างๆ และพยายามที่จะอยากรู้ว่า เขาดูกันยังไง ตั้งแต่เล็กๆ ที่จะเลือกตัวที่เดินประกวดได้ ลูกหมาแต่ละตัว แต่ละคอกนั้น ผมเฝ้าดูแบบตั้งใจ และประกอบกับความชอบส่วนตัวด้วย ทำให้ได้มุมมองอะไรหลายๆอย่าง

อีกทั้งยังได้ทดลอง หรือตั้งสมมุติฐานกับพี่ๆ ที่มีประสบการณ์มากกว่า ในการวางแผนบรีดหมาเพื่อแก้ไขข้อบกพร่อง ที่เราเห็นอยู่ในตัวสุนัขของเราเอง ว่ามีข้อบกพร่องตรงไหน จะแก้อย่างไร เราต้องเอาหมาเรามานั่งวิจารณ์ด้วยตัวเองก่อน เพื่อที่จะรู้ว่าเราดูข้อบกพร่องของหมาเป็นหรือยัง ก่อนที่จะหาทางแก้ไขในรุ่นต่อๆไป

จนปัจจุบัน ผมก็พอที่จะดูหมาประกวดเป็น พอที่จะมองออกว่าวันนี้ใครน่าจะดีที่สุด พอที่จะมองออกว่ากรรมการคิดอย่างไรในใจ ซึ่งกรรมการแต่ละท่านก็ไม่เหมือนกัน สิ่งที่ทำให้กรรมการแต่ละท่านตัดสินออกมาไม่เหมือนกันนั้นไม่ใช่ว่าเขาจะตัดสินตามใจตัวเขาเองนะครับ เดี๋ยวจะเข้าใจกันผิดๆ ก่อนเข้าสนามประกวด ต้องดูว่ากรรมการเป็นใคร กรรมการท่านนั้นผ่านการบรีด หมาสายพันธุ์ไหนมาบ้าง (อย่างน้อย 3 สาย) ซึ่งเขาจะมีประวัติกรรมการให้อยู่แล้วในหนังสือทะเบียนประกวด ที่แจกให้ผู้เข้าประกวด และสื่อมวลชน เราก็จะพอมองออกว่ากรรมการชอบหมาสไตล์ไหน ผอมบาง หุ่นเพรียว หรือล่ำบึ๊ก หรือชอบขนยาวๆ หรืออะไรต่างๆอีกมากมายนะครับ

(ยังมีต่อ)

หน้า: (หน้าก่อน)   1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18 ...210   (ต่อไป)